วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ความรู้ทั่วไปกระบวนการยุติธรรม เริ่มจากที่ใดไปสิ้นสุดที่ไหน

ความรู้ทั่วไปกระบวนการยุติธรรม เริ่มจากที่ใดไปสิ้นสุดที่ไหน



 
- ตำรวจ -
 
ตำรวจ เป็นหน่วยงานแรกของกระบวนการยุติธรรม เมื่อมีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้น ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดต้องรีบไปแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ ณ สถานีตำรวจท้องที่ ที่การกระทำผิดนั้นเกิดขึ้น เช่น เหตุเกิดที่ อ.เวียงแก่น ต้องไปแจ้งที่ สภ.อ.เวียงแก่น ในการแจ้งความนี้ ผู้เสียหายต้องเล่ารายละเอียดของการกระทำผิดให้พนักงานสอบสวนฟังโดยกล่าวหาว่า เมื่อวัน เดือน ปี เวลาใด มีการกระทำผิดอะไรเกิดขึ้น เหตุเกิดที่ไหน และต้องการจะให้ผู้กระทำผิดนั้นได้รับโทษ พนักงานสอบสวนก็จะบันทึกหลักฐานการแจ้งความ รับคำร้องทุกข์ ไว้ในสมุดประจำวันเกี่ยวกับคดี และดำเนินการสอบสวนติดตามจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไป หากมีพยานบุคคลคนรู้เห็นเหตุการณ์ ให้นำพยาน ไปด้วย
เมื่อ ตำรวจสืบสวนจันกุมผู้กระทำผิดหรือผู้ต้องหาได้แล้ว ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะแจ้งให้ญาติหรือผู้ที่ไว้วางใจทราบว่าตนถูกจับและถูกควบคุมตัวอยู่ ณ ที่ใด , สิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความสองต่อสอง , สิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมตามสมควร, สิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลทันทีเมื่อเจ็บป่วย ในระหว่างสอบสวนผู้ต้องหาจะถูกควบคุมที่โรงพัก ๔๘ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน ถ้าไม่ขอประกันตัว พนักงานสอบสวนก็จะส่งผู้ต้องหาไปฝากขังที่ศาล ญาติของผู้ต้องหาหรือผู้เกี่ยวข้องสามารถติดต่อขอประกันตัวผู้ต้องหาได้ที่ งานประชาสัมพันธ์ของศาล
เมื่อ พนักงานสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้น ก็จะส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมทำความเห็น ควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ กรณีผู้ต้องหาประกันตัวในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนจะนำตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนฯส่งพนักงานอัยการ ผู้ต้องหาหรือผู้เกี่ยวข้องสามารถขอประกันตัวต่อได้ที่สำนักงานอัยการ คล้ายกับการประกันตัวที่ตำรวจ ( ผู้ต้องหา คือ บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดอาญา แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล จำเลย คือ ผู้ต้องหา ที่ถูกฟ้องต่อศาลแล้ว )



- อัยการ -
 


อัยการ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๘ ให้อำนาจ พนักงานอัยการ และ ผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ โดยถือหลักของประเทศอังกฤษว่า .. ใครก็เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาได้ .. ( Anyone may prosecute )
กรณี ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อศาล ( ผู้เสียหายฟ้องศาลเอง ไม่แจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ ) ศาลจะไต่สวนมูลฟ้องก่อนว่าเรื่องที่ฟ้องนั้นมีมูลความจริงหรือไม่ เมื่อไต่สวนแล้วศาลเห็นว่า น่าจะมีความผิดเกิดขึ้นจริง และ จำเลยเป็นผู้กระทำผิด ศาลก็จะประทับฟ้องไว้พิจารณา หากศาลเห็นว่าไม่มีมูลความผิด หรือมีมูลความผิด แต่จำเลยไม่ใช่ผู้กระทำผิด หรือเป็นการกลั่นแกล้งฟ้องกันเอง ศาลก็จะพิพากษายกฟ้อง
กรณี พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อศาล ( ผู้เสียหาย แจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ ) เมื่อพนักงานสอบสวนรับแจ้งความและทำสำนวนการสอบสวนเสร็จแล้ว ก็จะส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ พนักงานอัยการก็จะพิจารณากลั่นกรองคดีจากสำนวนการสอบสวน แล้วจะมีคำสั่งในคดี ฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหา เมื่อพนักงานอัยการฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ศาลจะประทับฟ้องโดยจะไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ก็ได้ ( ในทางปฏิบัติศาลมักจะไม่ไต่สวน เพราะถือว่ามีการสอบสวนกลั่นกรอง ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน และชั้นอัยการ กันมาก่อนแล้ว ) เมื่อพนักงานอัยการฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลแล้ว ฐานะของผู้ต้องหาจะเปลี่ยนไปเป็น จำเลย



- ศาล -




ศาลยุติธรรม การพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของศาลไทย ใช้ระบบกล่าวหา ( Accusatorial System ) ซึ่งมีลักษณะเป็นการต่อสู้คดีกันระหว่าง โจทก์ กับ จำเลย โดยโจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย ส่วนจำเลยก็มีสิทธิต่อสู้คดีว่าตนเองไม่ได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง และมีสิทธินำสืบพยานหลักฐาน เพื่อหักล้างข้อกล่าวหานั้นได้
การพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของศาล เริ่มตั้งแต่ โจทก์ไปยื่นฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งอาจจะเป็นอัยการหรือผู้เสียหายฟ้องเอง เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว ศาลจะนัดจำเลยมาสอบคำให้การ เรียกว่า วันนัดชี้ เมื่อถึงวันนัดชี้ คู่ความจะต้องมาศาล ถ้าเป็นคดีที่พนักงานอัยการฟ้อง ต้องนำผู้ต้องหามาด้วยในตอนฟ้อง ( ถือว่าวันที่พนักงานอัยการฟ้อง เป็นวันชี้สองสถานด้วย ) ในวันนัดชี้ดังกล่าว ศาลท่านจะอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟัง แล้วจะถามจำเลยว่า รับสารภาพ หรือ ปฏิเสธ
กรณี จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจะตัดสินในวันนั้นและจะปราณีลดโทษให้จำเลยไม่เกินครึ่งหนึ่ง และศาลจะสั่งงดสืบพยาน เว้นแต่คดีที่มีโทษจำคุกอย่างต่ำ ตั้งแต่ ๕ ปีขึ้นไป แม้จำเลยจะรับสารภาพศาลก็ยังต้องสืบพยานประกอบ เพื่อฟังให้แน่ชัดว่าจำเลยกระทำผิดจริง
กรณี จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลจะนัดสืบพยานโจทก์ และจำเลยต่อไป โดยจะสืบพยานโจทก์ก่อน โดยทั่วไปแล้วผู้เสียหายจะเป็นพยานโจทก์ปากแรก เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วจึงจะสืบพยานจำเลย และเมื่อศาลได้สืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยเสร็จแล้ว ศาลก็จะพิจารณาพิพากษาตัดสินไปตามรูปคดี ตามความหนักเบาแห่งการกระทำผิด และอ่านคำพิพากษาให้ทั้ง โจทก์ - จำเลย ฟังในศาล





- ราชทัณฑ์ -

ราชทัณฑ์ ( เรือนจำ ) เมื่อคดีถึงที่สุด ( ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วคู่ความไม่ อุทธรณ์ - ฎีกา ) ก็ต้องบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดนั้น เช่นพิพากษาให้ยกฟ้อง ถ้าจำเลยถูกขังอยู่ที่เรือนจำ ศาลก็จะออกหมายปล่อยจำเลยให้พ้นข้อหาได้รับอิสรภาพไป ถ้าพิพากษาลงโทษจำคุกก็จะจำคุกจำเลยตามคำพิพากษาของศาล ( ฐานะของจำเลยจะเปลี่ยนเป็น ผู้ต้องขัง ) ระหว่างที่ถูกจำคุก ผู้ต้องขังจะได้รับการแก้ไขปรับปรุงความประพฤติ เพื่อให้สามารถกลับสู่สังคมได้ตามปกติหลังจากพ้นโทษแล้ว และไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีก


- คุมประพฤติ -
 

การคุมประพฤติ เป็นมาตรการทางกฎหมายที่ ใช้แทน การลงโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำผิด เพื่อให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิดสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้เช่นเดิม ภายใต้การสอดส่องดูแลของเจ้าพนักงาน ที่เรียกว่า พนักงานคุมประพฤติ การคุมประพฤติมีจุดมุ่งหมายเพื่อ ปรับปรุงแก้ไขผู้กระทำผิดในคดีเล็กๆน้อยๆ ให้กลับตนเป็นพลเมืองดี โดยให้ผู้กระทำผิดซึ่งเรียกว่า ผู้ถูกคุมความประพฤติ นั้น ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ถ้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือไม่ปรับปรุงแก้ไขตนเองให้เป็นพลเมืองดี ศาลอาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นลงโทษในสถานหนักต่อไปได้
ลักษณะงานและบทบาทหน้าที่ของสำนักงานคุมประพฤติ โดยสรุป ดังนี้.-
- การสืบเสาะและพินิจ... เป็นขั้นตอนก่อนศาลพิพากษา โดยศาลจะมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติทำการรวบรวมข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับจำเลย ตลอดจนสภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดี นำมาประมวลแล้วรายงานต่อศาล เพื่อศาลจะได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวประกอบดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาว่า จะลงโทษจำเลยในสถานใด หรือสมควรให้ใช้วิธีการคุมประพฤติหรือไม่ อย่างไร
- การควบคุมและสอดส่อง... เป็นขั้นตอนภายหลังศาลพิพากษาให้รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษ และกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติจำเลยไว้ โดยให้พนักงานคุมประพฤติเป็นผู้คอยช่วยเหลือ แนะนำ ตักเตือนในเรื่องนิสัยและความประพฤติ การประกอบอาชีพและอื่นๆ เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติมีโอกาสได้แก้ไขปรับปรุงตนเองให้เป็นพลเมืองดีต่อไป
( โทษทางอาญา คือ ประหารชีวิต - จำคุก - กักขัง - ปรับ - และริบทรัพย์สิน )




- ทนายความ -ทนายความ


ทนายความ กับ ผู้ต้องหา , จำเลย
ในระบบกล่าวหาดังกล่าว ซึ่งเป็นการต่อสู้คดีกันระหว่าง โจทก์ กับ จำเลย นั้น ทนายความได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือให้ ผู้ต้องหา และจำเลย ได้ใช้สิทธิต่อสู้คดีอย่างถูกต้องและเป็นธรรมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ผู้ต้องหาหรือจำเลยอาจจะว่าจ้างทนายความโดยจ่ายค่าตอบแทนให้ตามแต่จะตกลงกันเอง หากจำเลยไม่มีทนายความ ศาลจะจัดหาให้ ( รัฐจัดหาทนายความให้โดยรัฐเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนตามที่กฎหมายกำหนด )
ทนายความ กับ ผู้เสียหาย
- ในชั้นสอบสวนของตำรวจ ผู้เสียหาย สามารถปรึกษาทนายความ เพื่อแนะนำการให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวน หรือ อ้างพยานหลักฐานต่างๆให้รัดกุมมากขึ้น
- ในชั้นอัยการและศาล ผู้เสียหาย สามารถแต่งตั้งทนายความ เพื่อยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ฟ้องคดีอาญาต่อศาลจนกว่าคดีจะเสร็จเด็ดขาดได้
กรณี ผู้เสียหายฟ้องศาลด้วยตนเอง ( ไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม คือ ตำรวจ และอัยการ ) ผู้เสียหาย สามารถแต่งตั้งทนายความให้เป็นผู้ช่วยเหลือ ในการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อศาล ได้






 ที่มา  ::   http://www.correct.go.th/copsamp/%A1%C3%D0%BA%C7%B9%A1%D2%C3%C2%D8%B5%D4%B8%C3%C3%C1%E4%B7%C2.htm




ข้อควรปฏิบัติเมื่อถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่ง

ข้อควรปฏิบัติเมื่อถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่ง



           รายการทนายคลายทุกข์ขอนำข้อมูลเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาแนะนำ เมื่อถูกฟ้องดำเนินคดีแพ่ง จากส่วนประชาสัมพันธ์และบริการประชาชน ศาลแพ่ง มาเผยแพร่ให้กับพี่น้องประชาชนได้รับทราบ เมื่อต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดี (ขอขอบคุณสำหรับข้อมูลจากศาลแพ่ง มา ณ ที่นี้ หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามที่ศาลแพ่ง ได้ที่หมายเลข 02-512-8478,02-541-2420-9
             1. ต้องยื่นคำให้การภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง (คดีมโนสาเร่และคดีที่ไม่มีข้อยุ่งยากจำเลยให้การด้วยวาจาในวันนัดพิจารณาได้)
            2. กรณีที่ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ให้แก่จำเลยโดยวิธีอื่น เช่น เจ้าหน้าที่ศาลปิดหมายเรียก และสำเนาคำฟ้องไว้ที่บ้าน หรือที่ทำงานของจำเลย หรือประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ การนับระยะเวลาจะเริ่มนับ เมื่อพ้น 15 วันนับแต่วันปิด หรือวันประกาศโฆษณา จำเลยจึงยื่นคำให้การภายใน 30 วัน (15+15)
3. จำเลยอาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การได้เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษก่อนสิ้นระยะนั้น เว้นแต่กรณีมีเหตุสุดวิสัย คู่ความอาจขยายระยะเวลายื่นคำให้การได้ภายหลังจากที่เหตุสุดวิสัยนั้นสิ้นสุดลง และเป็นดุลพินิจของศาลที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาก็ได้
4. เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การแล้วจำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในเวลาตามที่กฎหมายกำหนดหรือตามคำสั่งศาล ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ทางแก้สำหรับจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ
          กรณีจำเลยมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยแจ้งต่อศาลว่าประสงค์จะสู้คดี และขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ยื่นคำให้การ หากศาลเห็นว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ หรือมีเหตุอื่นอันสมควรศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ การแจ้งความประสงค์จะสู้คดีนี้ จะทำเป็นหนังสือ หรือแจ้งด้วยวาจาหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนก็ได้
        หากจำเลยมิได้แจ้งต่อศาลว่าประสงค์จะสู้คดี หรือศาลไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การมีผลทำให้จำเลยจะนำพยานของตนเข้าสืบไม่ได้ จำเลยมีสิทธิเพียงถามค้านพยานโจทก์ที่อยู่ระหว่างการสืบพยานเท่านั้น
กรณีจำเลยมาศาลภายหลังจากที่ศาลตัดสินคดีแล้ว  จำเลยมีสิทธิขอพิจารณาคดีใหม่ ภายในกำหนดเวลาดังนี้
1. ในกรณีปกติให้ยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง
2. ในกรณีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ ให้ยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่พฤติการณ์นั้นสิ้นสุดลง  อย่างไรก็ตาม ห้ามจำเลยยื่นคำขอต่อศาลเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือนนับแต่วันที่ยึดทรัพย์ หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น และแม้พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ยังไม่สิ้นสุด
3. การสืบพยาน
         คู่ความจะต้องยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานนัดแรกไม่น้อยกว่า 7วัน  หากคู่ความประสงค์จะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมให้ยื่นคำแถลงต่อศาลภายใน 15วัน นับแต่วันสืบพยานนัดแรกหากการสืบพยานนัดแรกพ้น 15  วันแล้ว การยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมจะต้องทำเป็นคำร้องแสดงเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่อาจยื่นภายในกำหนด โดยยื่นคำร้องพร้อมกับบัญชีระบุพยานและสำเนาที่จะส่งให้อีกฝ่าย
กรณีที่จำเลยขาดยื่นคำให้การ จำเลยอาจถามค้านพยานโจทก์ที่อยู่ระหว่างการสืบได้ แต่จะนำสืบพยานหลักฐานของตนไม่ได้
4. ฟังคำพิพากษาหรือคำสั่ง
           เมื่อคดีเสร็จการพิจารณาหรือเสร็จการไต่สวน ศาลจะชี้ขาดตัดสินคดีโดยทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วแต่กรณี
5. การอุทธรณ์-ฎีกา
          เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว หากคู่ความฝ่ายใดไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นคู่ความฝ่ายนั้นมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ หรือเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้วคู่ความฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับศาลอุทธรณ์มีสิทธิฎีกาต่อศาลฎีกาได้ภายใน 1 เดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ข้อโต้แย้งที่คู่ความหยิบยกขึ้นแยกได้เป็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง โดยหลักถ้าเป็นข้อกฎหมายจะไม่มีข้อความห้ามในการอุทธรณ์ฎีกา แต่สำหรับข้อเท็จจริงนั้น หากทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท หรือทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริงเว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาล
          อุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุอันสมควรอุทธรณ์ฎีกาหรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีพิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาค (กรณีอุทธรณ์)หรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ (กรณีฎีกา)
            คดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว หรือคดีฟ้องขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ (หรือที่เรียกว่าคดีไม่มีทุนทรัพย์) สามารถอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ยกเว้นคดีฟ้องขับไล่ ซึ่งถือเป็นคดีฟ้อง  ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ หากอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในในขณะยื่นฟ้องไม่เกิน4,000 บาท (กรณีอุทธรณ์) หรือไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท (กรณีฎีกา) ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในข้อเท็จจริง
          คู่ความอาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฎีกาได้เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่กรณีมีเหตุสุดวิสัย คู่ความอาจขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ภายหลัง จากที่เหตุสุดวิสัยนั้นสิ้นสุดลงและเป็นดุลพินิจของศาลที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาก็ได้
8. การบังคับคดี
          เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งอย่างใดซึ่งจะต้องมีการบังคับคดี ศาลจะมีคำบังคับกำหนดวิธีที่จะปฏิบัติตามคำบังคับในวันที่พิพากษา หรือคำสั่ง และถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาในวันนั้น ศาลจะให้ลงลายมือชื่อรับทราบคำบังคับ แต่หากมิได้มาในวันดังกล่าว เจ้าพนักงานศาลจะส่งคำบังคับนั้นไปยังลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยในคำบังคับจะกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไข หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำบังคับนั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์ หรือถูกจับ และจำขังแล้วแต่กรณี
        หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำบังคับภายในเวลาที่กำหนด เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น โดยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น โดยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น โดยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อให้ออกหมายบังคับคดี
         อย่างไรก็ดี เมื่อบุคคลใดถูกฟ้องเป็นจำเลยควรปรึกษา และแต่งตั้งทนายความให้ดำเนินกระบวนพิจารณาแทน
          ทนายคลายทุกข์และทีมงานทนายความ  ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญา  ร้องทุกข์  ร้องเรียน  ไม่ได้รับความเป็นธรรม  เจรจาหนี้สิน  สืบทรัพย์  บังคับคดี  รับอบรมสัมมนา  พัฒนาบุคคลกรทางด้านกฎหมาย  อบรมนักทวงหนี้  ให้คำแนะนำในการปล่อยสินเชื่อ  โดยทีมงานทนายความมืออาชีพสอบถาม 02-948-5700081-625-2161 




ที่มา   ::  http://www.decha.com/main/showTopic.php?id=358



ข้อควรปฏิบัติเมื่อถูกฟ้อง

ข้อควรปฏิบัติเมื่อถูกฟ้อง


                                                      






1. เมื่อถูกฟ้องเป็นจำเลย  ควรปรึกษาทนายความและแต่งตั้งทนายความเพื่อ   ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทน
2. เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การ จะต้องยื่นคำให้การภายในกำหนดซึ่งระยะเวลาในการยื่นคำให้การนั้นมีความแตกต่างกัน  ดังนี้
   - คดีทั่วไป จำเลยต้องทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง
   - คดีมโนสาเร่ เมื่อศาลออกหมายเรียกไปยังจำเลยให้มาศาลและให้จำเลยให้การในวันมาศาล
   - คดีไม่มีข้อยุ่งยาก ศาลจะกำหนดระยะเวลาให้จำเลยยื่นคำให้การภายในวันใดวันหนึ่งตามที่ศาลจะเห็นสมควรกำหนดก็ได้
3.  การนับระยะเวลายื่นคำให้การ  จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง  หรือบุคคลอื่นที่อายุเกิน 20 ปี ซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านหรือที่ทำงานเดียวกับจำเลย  รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแทนจำเลย
                     
    อย่างไรก็ตาม  หากเป็นกรณีส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยโดยวิธีอื่น เช่น เจ้าหน้าที่ศาลปิดหมายเรียกและสำเนาฟ้องไว้ที่บ้านหรือที่ทำงานของจำเลย  หรือประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ การนับระยะเวลาจะเริ่มนับเมื่อพ้น
15 วัน  นับแต่วันปิด หรือวันประกาศโฆษณา กล่าวง่ายๆ ก็คือ  จำเลยได้เวลาเพิ่มอีก 15 วัน
    หากจำเลยไม่สามารถยื่นคำให้การภายในกำหนดได้ เช่น มีเอกสารหลักฐานในการต่อสู้คดีจำนวนมาก   จำเลยก็อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลขยายระยะเวลา
ยื่นคำให้การได้โดยต้องมีเหตุผลพิเศษอ้างเหตุที่ขอขยายระยะเวลานั้น  และเป็นดุลพินิจของศาลที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาก็ได้


ที่มา : ห้องสมุดอีเลคโทรนิกส์ ศาลยุติธรรม



ทำอย่างไร..เมื่อได้รับ "หมายศาล"



ทำอย่างไร..เมื่อได้รับ "หมายศาล"

  


 
คนทั่วไปเมื่อได้รับหมายศาลมักจะตกใจกลัวลนลานจนทำอะไรไม่ถูก เพราะเมื่อมีหมายศาลมาถึงตัวมักจะคิดถึงเรื่องการถูกฟ้องร้องไว้ก่อน ทั้งที่จริงๆ แล้วหมายศาลมีหลายชนิดซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นหมายศาลที่ถูกฟ้องร้องเสมอไป อาจเป็นหมายศาลในเรื่องอื่นๆ ก็ได้
ก่อนอื่นจะต้องตั้งสติให้ดีเมื่อได้รับหมายศาล ดูให้รอบคอบว่าเป็นหมายอะไร ส่งมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร และได้รับหมายในฐานะอะไร เนื่องจากหมายศาลมีหลายประเภท ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจในเบื้องต้นไว้บ้าง ดังนี้
          
หมายศาลในคดีแพ่งที่สำคัญ ๆ ได้แก่
1. หมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง หรือหมายเรียกคดีแพ่งสามัญ
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นหมายในคดีแพ่ง หากได้รับหมายนี้แสดงว่าผู้มีชื่อในหมายได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแล้วหากได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว มีหน้าที่ต้องทำคำให้การยื่นต่อศาลภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมายหรือถือว่าได้รับหมาย การที่จะถือว่าได้รับหมาย เช่นการปิดหมาย ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ถูกฟ้องไม่ยอมรับหมายเรียก จึงต้องทำการปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้ ณ ภูมิลำเนาของผู้ถูกฟ้อง แต่วิธีการปิดหมายจะมีผลใช้ได้ต่อเมื่อกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันปิดหมายได้ล่วงพ้นไปแล้ว ดังนั้น ผู้ที่ถูกฟ้องยังมีเวลาที่จะยื่นคำให้การแก้คดีได้รวมแล้ว 30 วัน นับถัดจากวันปิดหมาย เพื่อให้การต่อสู้คดี มิฉะนั้นจะหมดสิทธิ์ในการต่อสู้คดี ทำให้ต้องแพ้คดีและต้องรับผิดตามฟ้อง ดังนั้น เมื่อได้รับหมายต้องรีบติดต่อทนายความทันทีเพื่อปรึกษาและดำเนินการในการต่อสู้คดี
2. หมายเรียกคดีไม่มีข้อยุ่งยาก ,หมายเรียกคดีมโนสาเร่
คดีมโนสาเร่ คือ คดีที่ฟ้องร้องกันโดยมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 40,000 บาท หรือคดีฟ้องขับไล่ออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่มีค่าเช่าขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท จำเลยต้องมาศาลตามวันนัดพิจารณาในหมายเพื่อการไกล่เกลี่ย และต้องให้การแก้คดีและสืบพยาน จำเลยจะยื่นคำให้การแก้คดีก่อนวันนัดก็ได้ แต่อย่างช้าต้องไม่เกินวันนัดนั้น ถ้าจำเลยไม่ได้ให้การในวันนัด ศาลจะพิจารณาคดีต่อไปโดยถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และถ้าจำเลยไม่ได้มาศาลในวันนัดดังกล่าวโดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนคดี ศาลจะสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาด้วย และศาลจะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว
คดีไม่มีข้อยุ่งยาก คือ คดีสามัญที่โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงินจำนวนที่แน่นอนตามตั๋วเงิน (ตั๋วสัญญาใช้เงิน ,ตั๋วแลกเงิน ,เช็ค) หรือฟ้องตามสัญญาที่เป็นหนังสือสัญญาที่แท้จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยต้องมาศาลและให้การแก้คดีในวันนัดซึ่งเป็นวันนัดพิจารณาด้วย ถ้าจำเลยไม่ได้ให้การในวันกำหนด ศาลจะพิจารณาคดีต่อไปโดยถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และถ้าจำเลยไม่ได้มาศาลในวันนัดดังกล่าวโดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนคดี ศาลจะสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา และศาลจะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว
3. หมายเรียกพยานเอกสารหรือวัตถุ
อันที่จริงเป็น "คำสั่งเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ(คดีแพ่ง) " เมื่อได้รับหมายดังกล่าวแล้ว ผู้มีชื่อในหมายมีหน้าที่ต้องจัดส่งเอกสารหรือวัตถุพยานไปยังศาลตามรายการที่ระบุไว้ในหมาย หากขัดขืนอาจมีความผิดฐานขัดขืนหมายศาลซึ่งมีโทษถึงจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้จะมีระบุไว้ในด้านหลังของหมาย
แต่หากไม่มีเอกสารหรือวัตถุพยานตามหมายเรียกอยู่ในครอบครองก็ให้ทำหนังสือชี้แจงไปยังศาลเพื่อให้ศาลและผู้ขอหมายเรียกทราบต่อไป แต่หากมีบางส่วนหรือมีแต่ไม่อาจส่งไปให้ทันตามกำหนดเวลาได้ ก็ต้องทำหนังสือแจ้งเหตุไปให้ทราบเช่นกัน
4. หมายเรียกพยานบุคคล
เมื่อได้รับหมายจะต้องไปศาลตามวันและเวลาที่กำหนดไว้ในหมาย เพื่อเบิกความเป็นพยานต่อศาล หากขัดขืนไม่ไปศาลตามกำหนดศาลอาจออกหมายจับเอาตัวกักขังได้ และอาจถูกฟ้องได้ แต่หากมีเหตุขัดข้องไม่สามารถไปศาลตามวันเวลาที่กำหนดได้ ก็สามารถทำหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลได้ และหากผู้ขอหมายยังประสงค์จะให้เบิกความเป็นพยานต่อศาลอีกก็จะต้องส่งหมายมาให้อีกครั้งหนึ่ง
5. หมายบังคับคดี
เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีแล้ว และจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ก็จะมีการออกหมายบังคับคดีส่งให้จำเลย เมื่อจำเลยได้รับหมายบังคับคดีแล้วมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษา มิฉะนั้นอาจถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้
หมายในคดีอาญาที่สำคัญ ๆ มีดังนี้
1. หมายนัดไต่สวนมูลฟ้อง
ในคดีอาญา ถ้าผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีเอง ตามกฎหมายศาลจะต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนว่าคดีที่โจทก์ฟ้องนั้นมีมูลหรือไม่ ถ้ามีมูลศาลก็จะประทับรับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป ถ้าศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลศาลก็จะมีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผู้เสียหายแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนหรือตำรวจก็ไม่ต้องทำการไต่สวนมูลฟ้อง พนักงานสอบสวนจะทำสำนวนส่งให้อัยการยื่นฟ้องได้เลย
เมื่อได้รับหมายนัดจึงต้องดูรายละเอียดว่าศาลกำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องวันใด และหากประสงค์จะต่อสู้คดีก็ต้องรีบปรึกษาทนายความทันที เพื่อทำหนังสือแต่งตั้งทนายความเพื่อให้ทนายความไปทำการซักค้านพยานโจทก์ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องแทน โดยในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องจำเลยไม่จำเป็นต้องไปศาล
ส่วนใหญ่แล้วในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องจำเลยจึงมักจะไม่ไปศาลเพราะหากจำเลยไปศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ถ้าศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ศาลก็จะประทับรับฟ้องไว้พิจารณา จำเลยจะถูกควบคุมตัวทันที จึงต้องเตรียมหลักทรัพย์ไปประกันตัวด้วย
2. หมายเรียกพยานบุคคล
เมื่อได้รับหมายดังกล่าวต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับการที่ได้รับหมายเรียกพยานบุคคลในคดีแพ่งดังที่ได้กล่าวมาแล้ว มิฉะนั้นก็จะมีความผิดเช่นเดียวกัน

3. หมายเรียกพยานเอกสารหรือวัตถุในคดีอาญา

หากได้รับหมายเรียกให้ส่งพยานเอกสารหรือวัตถุต่อศาล จะต้องจัดส่งเอกสารหรือวัตถุตามที่ระบุในหมายไปศาลตามวันเวลาที่ศาลกำหนด หากขัดขืนอาจมีความผิดฐานขัดขืนหมายศาลซึ่งมีโทษถึงจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้จะมีระบุไว้ในด้านหลังของหมาย
แต่หากไม่มีเอกสารหรือวัตถุพยานตามหมายเรียกอยู่ในครอบครองก็ให้ทำหนังสือชี้แจงไปยังศาลเพื่อให้ศาลทราบต่อไป แต่หากมีบางส่วนหรือมีแต่ไม่อาจส่งไปให้ทันตามกำหนดเวลาได้ ก็ต้องทำหนังสือแจ้งเหตุไปให้ทราบเช่นกัน หรือจะไปแถลงด้วยวาจาต่อศาลตามวันที่ระบุในหมายก็ได้
4. หมายค้น หมายจับ หมายขังและหมายปล่อย
กฎหมายห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล แต่มีข้อยกเว้นถ้าพนักงานฝ่ายปกครอง (ตั้งแต่ปลัดกระทรวงมหาดไทยลงมาจนถึงปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ) หรือตำรวจ (ตั้งแต่อธิบดีกรมตำรวจลงมาจนถึงหัวหน้ากิ่งสถานีตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป) เป็นผู้ค้นในกรณีดังต่อไปนี้ คือ

1.เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยออกมาจากที่รโหฐานหรือมีพฤติการณ์ที่แสดงได้ว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นข้างใน
2.เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำลงในที่รโหฐาน
3.เมื่อมีคนร้ายขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่
4.เมื่อมีหลักฐานว่ามีสิ่งของผิดกฎหมายซ่อนอยู่ซึ่งหากรอหมายค้นสิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายทำลายเสียก่อน
5.เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้ที่จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้านและการจับนั้นมีหมายจับ

นอกจากนี้การค้นในที่รโหฐานต้องทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก ยกเว้น เมื่อค้นตั้งแต่เวลากลางวันแต่ยังไม่เสร็จก็สามารถค้นต่อไปถึงกลางคืนได้ หรือในกรณีมีเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่งก็ค้นในเวลากลางคืนได้ เมื่อได้รับหมายดังกล่าวเหล่านี้ ต้องอ่านรายละเอียดในหมายว่าให้เข้าใจ เมื่อเห็นว่าเป็นหมายที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ต้องปฏิบัติตามที่ระบุไว้ในหมาย แต่ถ้าเป็นหมายค้นก็ต้องยอมให้ตรวจค้นได้ แต่การตรวจค้นจะต้องทำตามวัน - เวลาและสถานที่ที่ระบุในหมายศาลเท่านั้น และต้องกระทำอย่างระวังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถูกค้น มิฉะนั้นผู้ถูกค้นสามารถฟ้องผู้ตรวจค้นได้
ส่วนหมายขัง หมายจำคุก หมายปล่อย เป็นเรื่องเฉพาะที่มีขั้นตอนที่ลึกลงไปอีกซึ่งศาลจะกำหนดไว้ในหมายว่าจะดำเนินการอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น
การได้รับหมายศาลเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นกับคนทั่วไป ดังนั้นเมื่อได้รับหมายศาลจะต้องตั้งสติให้ดี อย่ากลัวลนลานจนเกินเหตุ ถ้าไม่แน่ใจก็รีบปรึกษาทนายความทันที






ที่มา : http://www.geocities.com/ruammitra


อายุความบัตรเครดิต 2 ปี หมายความว่าอย่างไร


อายุความบัตรเครดิต 2 ปี หมายความว่าอย่างไร  


   

                                                                                   






การที่เราเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทบัตรเครดิต แล้วนำบัตรเครดิตนั้นไปใช้ซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าต่างๆที่รับบัตรนั้น หรือใช้บัตรเครดิตถอนเงินสดจากตู้ ATM ต่อมาเมื่อธนาคารจ่ายค่าสินค้าและบริการให้แก่ร้านค้าแทนเรา ธนาคารก็จะเรียกเก็บจากเราเป็นรายเดือน
การให้บริการดังกล่าวธนาคารได้เรียกเก็บค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมรายปีด้วย ถือว่าธนาคารเป็นผู้รับทำการงานต่างๆให้แก่เรา (ลูกหนี้) และการที่ธนาคารได้ชำระเงินแก่ร้านค้าแทนไปก่อน แล้วค่อยเรียกเก็บจากลูกหนี้ในภายหลัง เป็นการเรียกเอาค่าที่ธนาคารได้ออกเงินทดรองจ่ายไป มีอายุความ 2 ปี ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(7) เว้นแต่ ธนาคารพาณิชย์บางแห่งนะครับ ที่ออกบัตรเครดิตโดยให้ลูกค้าทำสัญญากู้เป็นสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี เข้าลักษณะสัญญาบัญชีเดินสะพัดไว้ กรณีนี้ถือว่ามีอายุความ 10 ปีตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี
แต่ในที่นี้จะพูดถึงกรณีทั่วไป ธนาคารซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะต้องใช้สิทธิฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่ชำระหนี้แก่ธนาคารครั้งสุดท้าย ถ้าหากธนาคารไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องในเวลา 2 ปี คดีก็เป็นอันขาดอายุความหรือหมดสิทธิเรียกร้อง ลูกหนี้ก็พ้นความรับผิด ไม่ต้องชำระหนี้บัตรเครดิตให้แก่ธนาคาร ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ เพราะถึงแม้ธนาคารจะดันทุรังฟ้องร้องลูกหนี้ แต่เมื่อลูกหนี้ยกข้อต่อสู้ว่าคดีหมดอายุความแล้ว ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง
แต่ที่สำคัญอย่าลืมนะครับว่า แม้ว่าคดีจะขาดอายุความ 2 ปีแล้วก็ตาม ถ้าธนาคารเจ้าหนี้ยื่นฟ้องมา แล้วลูกหนี้ไม่ยื่นคำให้การแก้คดีภายในกำหนดของกฎหมาย ลูกหนี้ก็แพ้คดีเสียตั้งแต่ในมุ้งแล้ว แต่เมื่อลูกหนี้ยื่นคำให้การต่อสู้คดี ลูกหนี้จะต้องต่อสู้คดีในประเด็นที่ว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว มิฉะนั้นศาลก็ไม่อาจหยิบยกเรื่องคดีขาดอายุความขึ้นมาเป็นเหตุยกฟ้องของโจทก์ได้ (ตามมาตรา 193 / 29 ) มีตัวอย่างมากมายที่แม้จะรู้ว่าคดีขาดอายุความ 2 ปีแล้ว แต่ธนาคารก็ยังให้ทนายความยื่นฟ้องลูกหนี้ ถ้าเผื่อฟลุ๊คๆขึ้นมาไปเจอเอาลูกหนี้ที่ไม่รู้เรื่อง ไม่ใส่ใจที่จะต่อสู้คดีเพราะรับรู้ว่าตนเป็นหนี้ธนาคารจริงๆ โดยหารู้ไม่ว่าคดีขาดอายุความแล้ว จึงไม่ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่าขาดอายุความแต่อย่างใด นั่นนับว่าเป็นคราวเฮงของเจ้าหนี้ และเป็นคราวซวยของลูกหนี้ ศาลก็จะต้องพิพากษาตามพยานหลักฐานให้เจ้าหนี้ชนะคดีไป ลูกหนี้ก็ต้องรับผิดชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลต่อไป
ผลของการชำระหนี้ก่อนจะครบกำหนดอายุความ ถ้ามีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แม้เพียงบางส่วนก็ตาม ถือว่าได้มีการรับสภาพหนี้แล้ว ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความกันใหม่ตั้งแต่วันที่ลูกหนี้กระทำการ ดังกล่าว แต่นอกเหนือจากการที่ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้แล้วยังมีอีกหลายกรณีนะครับ ที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง แต่จะไม่กล่าวถึงในที่นี้
การชำระหนี้ที่จะถือว่าเป็นกรณีที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ได้กระทำการชำระหนี้แม้พียงบางส่วนให้แก่เจ้าหนี้ หรือธนาคารพาณิชย์ก่อนที่อายุความฟ้องร้องจะสิ้นสุดลง อย่าลืมนะครับ… ก่อนอายุความสิ้นสุดลง
การชำระหนี้ภายหลังขาดอายุความแล้ว เพียงแต่มีผลทำให้ลูกหนี้เรียกเงินคืนไม่ได้เท่านั้น (ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง) เพราะสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความแล้ว ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ (ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/10) ส่วนการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่าลูกหนี้จะชำระไปมากน้อยเพียงใดลูกหนี้ก็เรียกคืนไม่ได้ และไม่ว่าลูกหนี้จะรู้หรือไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ขาดอายุความแล้วก็ตาม เผลอจ่ายไปแล้วก็ต้องเลยตามเลยล่ะครับ



 
 

 
บทความโดย : คุณพิทยา  http://www.geocities.com/ruammitra


คำแนะนำในการไปติดต่อที่สถานีตำรวจ


คำแนะนำในการไปติดต่อที่สถานีตำรวจ








    คำแนะนำในการไปติดต่อที่สถานีตำรวจเพื่อกิจธุระต่างๆ เช่น
• การแจ้งความต่าง ๆ
• การขออนุญาตต่าง ๆ
• การยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหา

การแจ้งความต่าง ๆ
เพื่อความสะดวกรวดเร็วและถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ เมื่อท่านไปติดต่อที่
โรงพักท่านควรเตรียมเอกสารต่างๆ ที่จำเป็นติดตัวไปด้วยคือ
๑. บัตรประจำตัวประชาชน หรือใบแทนฯ หรือ
๒. บัตรประจำตัวข้าราชการ หรือ
๓. ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือ
๔. หนังสือเดินทาง (Passport) สำหรับชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาภายในประเทศ
๕. ในกรณีที่ท่านจะไปร้องทุกข์ (แจ้งความ) โดยเป็นตัวแทนของผู้อื่น ให้นำหลักฐานต่างๆ ดังนี้
   ติดตัวไปด้วย
   ๕.๑ ใบสำคัญแสดงการเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์
   ๕.๒ ใบสำคัญแสดงการเป็นผู้อนุบาลของผู้ไร้ความสามารถ (ตามคำสั่งศาล)
   ๕.๓ ในกรณีที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ ให้ท่านนำ
       หลักฐานซึ่งแสดงว่าท่านเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน หรือสามีหรือภรรยา (ซึ่งได้จดทะเบียนสมรส)
       สูติบัตร,ใบทะเบียนสมรส ฯลฯ มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ
   ๕.๔ ใบสำคัญแสดงการอนุญาตของสามีหรือภรรยา แล้วแต่กรณี ให้ร้องทุกข์แทนหรือเป็น
       ตัวแทนโดยสมบูรณ์
   ๕.๕ ในกรณีที่เป็นผู้แทนของนิติบุคคลให้นำ
       ๕.๕.๑ หนังสือมอบอำนาจของนิติบุคคลเป็นหลักฐาน พร้อมทั้งติดอากรแสตมป์ ๕ บาท
       ๕.๕.๒ หนังสือรับรองนิติบุคคลนั้นของกระทรวงพาณิชย์
นอกจากหลักฐานดังกล่าวข้างต้นแล้ว หากเป็นกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้ ท่านต้องนำหลักฐานเพิ่มเติม
ไปอีกคือ

แจ้งความคนหาย หลักฐานต่างๆ ที่ควรนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือ
๑. บัตรประจำตัวผู้หาย (ถ้ามี)
๒. ใบสำมะโนครัว (ทะเบียนบ้าน) ผู้หาย
๓. ภาพถ่ายคนหาย (เป็นภาพถ่ายที่ใหม่ที่สุด)
๔. ใบสำคัญทางราชการ เช่น ใบเกิด ใบสำคัญทหาร (ใบกองเกิน, กองหนุน)

แจ้งรถหาย หลักฐานต่างๆ ที่ควรนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ
๑. ใบทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือพาหนะอื่นๆ ที่หาย
๒. ใบรับเงินหรือสัญญาซื้อขายเท่าที่มี
๓. ถ้าเป็นตัวแทนห้างร้าน บริษัท ไปแจ้งความ ควรมีหนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของหรือผู้จัดการของ
   ห้างร้าน บริษัทนั้นๆ ไป รวมทั้งหนังสือรับรองบริษัทด้วย
๔. หนังสือเกี่ยวกับการติดต่อหรือเอกสารที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานได้ (ถ้ามี)
๕. หนังสือคู่มือประจำตัวรถที่ทางบริษัทห้างร้านจ่ายให้เป็นคู่มือ ถ้าไม่มีหนังสือคู่มือรถให้จดยี่ห้อ
   สี แบบ หมายเลข ประจำเครื่องและตัวรถไปด้วย (ถ้ามี)

แจ้งอาวุธปืนหาย หลักฐานต่างๆ ที่ควรนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ
๑. ทะเบียนใบอนุญาตอาวุธปืน
๒. ใบเสร็จรับเงินที่บริษัทห้างร้านขายปืนออกให้
   แจ้งทรัพย์สินหาย หลักฐานต่างๆ ที่ควรนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ
๑. ใบเสร็จรับเงินซื้อขาย หรือหลักฐานแสดงการซื้อขายทรัพย์สินนั้น
๒. รูปพรรณทรัพย์สินนั้นๆ (ถ้ามี)
๓. ตำหนิหรือลักษณะพิเศษต่างๆ
๔. เอกสารสำคัญต่างๆ เท่าที่มี

แจ้งพรากผู้เยาว์ หลักฐานต่างๆ ที่ควรนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ
๑. ใบสำมะโนครัว (ทะเบียนบ้าน) ของผู้เยาว์
๒. ใบเกิดของผู้เยาว์ (สูติบัตร)
๓. รูปถ่ายของผู้เยาว์
๔. ใบสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวกับผู้เยาว์ (ถ้ามี)

แจ้งถูกข่มขืนกระทำชำเรา หลักฐานต่างๆ ที่ควรนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ
๑. เสื้อผ้าของผู้ที่ถูกข่มขืนฯ ซึ่งมีคราบน้ำอสุจิ หรือรอยเปื้อนอย่างอื่น อันเกิดจากการข่มขืน และ
   สิ่งของต่างๆ ของผู้ต้องหาที่ตกอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ
๒. ใบสำเนาสำมะโนครัว (ทะเบียนบ้าน) ของผู้เสียหาย
๓. รูปถ่าย หรือที่อยู่ของผู้ต้องหาตลอดจนหลักฐานอื่นๆ (ถ้ามี)

แจ้งถูกทำร้ายร่างกายและถูกฆ่าตาย หลักฐานที่ควรนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ
๑. มีด ไม้ ปืน ของมีคม หรืออาวุธที่คนร้ายทิ้งไว้ในสถานที่เกิดเหตุ ตลอดจนพยานหลักฐานต่างๆ
   ที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุ
๒. ให้ดูแลรักษาสถานที่เกิดเหตุไว้ อย่าให้ผู้ใดเข้าไปแตะต้อง หรือเคลื่อนย้ายสิ่งของต่างๆ ในที่เกิด
   เหตุจนกว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะไปถึงที่เกิดเหตุ
๓. รายละเอียดเท่าที่สามารถบอกให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้

แจ้งถูกปลอมแปลงเอกสาร หลักฐานที่ควรนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ
๑. ใบสำคัญตัวจริง เช่น โฉนด แบบ นส.๓ แบบ สค. ๑ หนังสือสัญญาใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น
๒. หนังสือที่ปลอมแปลง
๓. ตัวอย่างตามที่ใช้ประทับหรือลายเซ็นให้หนังสือ

แจ้งถูกฉ้อโกงทรัพย์ หลักฐานที่ควรนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ
๑. หนังสือหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการถูกฉ้อโกง
๒. หลักฐานแสดงการเป็นผู้ครอบครองทรัพย์
๓. หนังสือหรือหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของทรัพย์

แจ้งถูกยักยอกทรัพย์ หลักฐานที่ควรนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ
๑. หนังสือสำคัญที่เป็นหลักฐานว่าได้มีการมอบหมายทรัพย์ให้ไปจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง
๒. ใบสำคัญแสดงการเป็นเจ้าของ
๓. สำเนาหรือคำสั่งศาล หรือพินัยกรรมในกรณีผู้กระทำผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินผู้อื่น ตามคำสั่งของ
   ศาลหรือพินัยกรรม

แจ้งถูกยักยอกทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับการเช่าซื้อ หลักฐานที่ควรนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ
๑. สัญญาใบเช่าซื้อหรือสำเนา
๒. ใบสำคัญการติดต่อซื้อขาย เช่า ยืม ฝาก
๓. ใบสำคัญที่บริษัทห้างร้านออกให้โดยระบุรูปพรรณ ยี่ห้อ สี ขนาด น้ำหนักและหมายเลขประจำตัว

แจ้งทำให้เสียทรัพย์ หลักฐานที่ควรนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ
๑. หลักฐานต่างๆ แสดงการเป็นเจ้าของหรือครอบครองทรัพย์นั้น
๒. หลักฐานหรือสิ่งของที่เสียหายเท่าที่มีหรือเท่าที่นำไปได้
๓. หากเป็นของใหญ่โตหรือทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ซึ่งไม่สามารถนำติดตัวไปได้ ให้เก็บรักษาไว้
   อย่าให้เกิดการเสียหายมากขึ้นกว่าเดิม หรือจัดให้คนเฝ้ารักษาไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีต่อไป

แจ้งจ่ายเช็คโดยไม่มีเงิน หลักฐานที่ควรนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ
๑. เช็คที่ยึดไว้
๒. หนังสือที่ธนาคารแจ้งขัดข้อง หรือปฏิเสธการจ่ายเงิน


              
การขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้กระทำผิด เมื่อผู้เสียหายไปพบในท้องที่อื่น หลักฐานที่ควรนำไปแสดง
ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ
๑. สำเนาการรับแจ้งความ สมุดประจำวันของสถานีตำรวจที่รับแจ้งความ ให้ปรากฏวัน เดือน ปี
   ที่รับแจ้งความไว้ (ข้อประจำวัน)
๒. สำเนาหมายจับ (ถ้ามี)
๓. หนังสือรับรองของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่แสดงว่าได้ออกหมายจับไว้แล้ว
วิธีปฏิบัติ ถ้าท่านมีความจำเป็นที่จะแจ้งความตามกรณีดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ให้ท่านไปพบพนักงาน
สอบสวน ณ โรงพักที่ใกล้ที่สุดแจ้งความประสงค์ และรายละเอียดให้ร้อยเวรทราบ พร้อมทั้งแสดงหลักฐาน
ต่างๆ ตามแต่กรณีที่ได้นำติดตัวมาแก่พนักงานสอบสวน
หมายเหตุ ในโอกาสที่ไปแจ้งความ หรือร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนนั้น นอกจากนำหลักฐานไป
แสดงแล้ว ถ้าหากท่านสามารถพาพยานบุคคลที่รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไปพบพนักงานสอบสวนด้วยก็
จะเป็นประโยชน์แก่ท่าน และพนักงานสอบสวนเป็นอย่างมาก เพราะจะสามารถดำเนินเรื่องของท่านให้แล้ว
เสร็จได้เร็วขึ้น
๑. หากไม่อาจเขียนคำร้องขอประกันได้เอง ให้ร้องขอต่อพนักงานสอบสวนเพื่อสั่งเจ้าหน้าที่ช่วยเขียน
   คำร้องให้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
๒. เมื่อพนักงานสอบสวนรับคำร้องแล้วให้ขอหลักฐานการรับสัญญาประกัน ซึ่งต้องลงเวลารับคำร้อง
   ไว้ด้วย
๓. เจ้าพนักงานจะพิจารณาแจ้งผลการสั่งคำร้องให้แล้วเสร็จภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่รับคำ
   ร้อง

หากไม่ได้รับความสะดวกหรือล่าช้า ให้รีบเข้าพบแจ้งต่อสารวัตรใหญ่หรือสารวัตรคนใดคนหนึ่งทราบทันที
การขออนุญาตต่างๆ
๑. การขออนุญาตแสดงมหรสพชั่วคราว  เช่น งานบวชนาค โกนจุก เผาศพ ฯลฯ
๑.๑ ไปยื่นคำร้องต่อสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ที่แสดงมหรสพ
๑.๒ ต้องมีหนังสือยินยอมจากเจ้าของสถานที่แสดงมหรสพ
๑.๓ ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง (หากมี)
๑.๔ เลิกการแสดงมหรสพ เวลา ๒๔.๐๐ น.
๑.๕ สารวัตรสถานีตำรวจนครบาลท้องที่พิจารณาอนุญาตได้

๒. ขออนุญาตจัดงานประจำปีของวัดซึ่งเป็นงานใหญ่
๒.๑ ไปยื่นคำร้องต่อสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ที่แสดงมหรสพ
๒.๒ หนังสืออนุมัติให้จัดงานวัดจากเจ้าคณะแขวง เจ้าคณะเขต หรือเจ้าคณะภาค แล้วแต่กรณีตาม
    ระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยการจัดงานวัด
๒.๓ หนังสือมอบอำนาจจากเจ้าอาวาส ในกรณีที่เจ้าอาวาสไม่อาจไปขออนุญาตด้วยตนเองได้
๒.๔ แผนที่สังเขปแสดงบริเวณที่จัดงาน
๒.๕ ขออนุญาตให้เครื่องขยายเสียง (หากมี)
๒.๖ เลิกการแสดงมหรสพ เวลา ๒๔.๐๐ น.
๒.๗ เสนอตามลำดับชั้นถึงกองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นผู้พิจารณาอนุญาต

๓. ขออนุญาตจัดงานทั่วไปที่เป็นงานใหญ่
๓.๑ ไปยื่นคำร้องต่อสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ที่แสดงมหรสพหรือสถานที่จัดงาน
๓.๒ แสดงรายละเอียดและวัตถุประสงค์ของการจัดงาน
๓.๓ มหรสพที่จัดให้มีการแสดง หรืองานที่จะจัดขึ้น
๓.๔ หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ กรณีผู้ขออนุญาตไม่ใช่เจ้าของสถานที่
๓.๕ ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง (หากมี)
๓.๖ แผนที่สังเขปบริเวณที่จัดงาน และแสดงมหรสพ
๓.๗ เลิกการแสดงมหรสพ เวลา ๒๔.๐๐ น.
๓.๘ เสนอเรื่องตามลำดับชั้นถึงกองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้พิจารณาอนุญาต
๓.๙ หากเลิกการแสดงเกินเวลา ๒๔.๐๐ น. ต้องเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกระทรวง
    มหาดไทย

๔. ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง
๔.๑ ผู้ขอไปขอคำร้องขอใช้เครื่องขยายเสียงจากเขต
๔.๒ นำคำร้องมายื่นต่อสารวัตรสถานีตำรวจนครบาลท้องที่เพื่อพิจารณามีความเห็นก่อน
๔.๓ นำคำร้องกลับคืนไปยังเขตที่ขอใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อพิจารณาอนุญาต

๕. ขออนุญาตจุดดอกไม้เพลิง
๕.๑ ไปยื่นคำร้องต่อสถานีตำรวจนครบาล ท้องที่ที่ขอจุดดอกไม้เพลิง
๕.๒ แผนที่สังเขปบริเวณที่จุดดอกไม้เพลิง
๕.๓ หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่จุดดอกไม้เพลิง กรณีผู้ขอไม่ใช่เจ้าของสถานที่
๕.๔ หลักฐานแสดงว่า ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าประเภท ดอกไม้เพลิง
๕.๕ ห้ามจุดพลุและตะไล
๕.๖ เสนอตามลำดับชั้นถึงกองบัญชาการตำรวจนครบาลพิจารณาอนุญาต
๖. ขออนุญาตแสดงมหรสพงิ้ว
๖.๑ ยื่นคำร้องต่อสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ พร้อมนำบทประพันธ์และเครื่องแต่งกายของงิ้วที่จะ
    แสดงไปด้วย
๖.๒ ส่งบทประพันธ์และเครื่องแต่งกายงิ้วให้ผู้กำกับการ ๓ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ตรวจ
    สอบก่อน
๖.๓ แผนที่สังเขปสถานที่แสดงงิ้ว
๖.๔ หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่แสดงงิ้ว กรณีผู้ขอไม่ใช่เจ้าของสถานที่
๖.๕ การแสดงงิ้วห้ามให้เครื่องขยายเสียงโดยเด็ดขาด
๖.๖ เสนอเรื่องราวตามลำดับชั้นถึงกองบัญชาการตำรวจนครบาลพิจารณาอนุญาต
๖.๗ ต้องไปชำระเงินค่าทำความสะอาดต่อเขตท้องที่

๗. ขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน
๗.๑ ไปยื่นคำร้องเรื่องราวที่แผนกอาวุธปืน กองทะเบียนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
๗.๒ แผนกอาวุธปืน กองทะเบียนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะส่งเรื่องมายังกองบัญชาการตำรวจนคร
    บาล เพื่อส่งผ่านให้สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ที่ผู้ขอมีภูมิลำเนาอยู่
๗.๓ สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ต้องสอบสวนคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐
๗.๔ สถานีตำรวจนครบาลท้องที่รวบรวมหลักฐานรับรองการประกอบอาชีพ รายได้หลักทรัพย์ และ
    อื่นๆ
๗.๕ พิมพ์ลายนิ้วมือผู้ขอส่งไปตรวจสอบที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร
๗.๖ สถานีตำรวจนครบาลท้องที่บันทึกการตรวจสอบความประพฤติ หลักทรัพย์
๗.๗ รวบรวมหลักฐานทั้งหมดเสนอตามลำดับชั้นจนถึงกองบัญชาการตำรวจนครบาล
๗.๘ กองบัญชาการตำรวจนครบาล พิจารณาเสนอไปยังกองทะเบียนสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อ
    พิจารณา

๘. การขอรับโอนมรดกอาวุธปืน
๘.๑ ปฏิบัติเช่นเดียวกับการขอมีอาวุธปืน
๘.๒ ใบมรณบัตรของผู้ตาย
๘.๓ หนังสือพินัยกรรมของผู้ตาย หรือคำสั่งของศาลให้เป็นผู้จัดการมรดก (หากมี)
๘.๔ สอบสวนปากคำทายาททุกคน

๙. การพนันประเภทไพ่จีน, ไพ่ไทย, ไพ่ซีเซ็ก, ไพ่นกกระจอก
๙.๑ ยื่นคำร้องขอต่อสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ที่ขออนุญาต
๙.๒ แบบแปลนแผนผังบ้านที่ขอเล่นการพนัน
๙.๓ สำเนาทะเบียนบ้าน
๙.๔ สถานีตำรวจนครบาลท้องที่สอบสวนปากคำผู้ขออนุญาต
๙.๕ สถานีตำรวจนครบาลท้องที่พิจารณาออกใบอนุญาตได้

๑๐. การขอตั้งสมาคม
๑๐.๑ ยื่นคำร้องต่อสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ พร้อมวิธีการและสิ่งของรางวัลโดยละเอียด
๑๐.๒ หลักฐานการเป็นเจ้าของสินค้า, เครื่องหมายการค้าหรือตัวแทนจำหน่ายแต่ผู้เดียวในประเทศไทย
๑๐.๓ วิธีการโฆษณาและการมอบของรางวัล
๑๐.๔ หลักฐานการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน บริษัท
๑๐.๕ สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ส่งวิธีการชิงโชคฯ ไปให้ผู้ชำนาญการพนันตรวจสอบก่อน
๑๐.๖ รวบรวมหลักฐานเสนอตามลำดับชั้นจนถึงกองบัญชาการตำรวจนครบาลพิจารณา

๑๑. การขอตั้งสมาคม
๑๑.๑ ยื่นเรื่องราวคำร้องต่อตำรวจสันติบาล
๑๑.๒ ตำรวจสันติบาลส่งเรื่องไปยังผู้บัญชาการ เพื่อส่งสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ที่สมาคมตั้งอยู่
     ดำเนินการตรวจสอบสถานที่ตั้ง
๑๑.๓ เมื่อสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ดำเนินการเรียกร้อยแล้วเสนอเรื่องตามลำดับชั้นถึงกองบัญชาการ
     ตำรวจนครบาล
๑๑.๔ กองบัญชาการตำรวจนครบาลเสนอเรื่องคืนตำรวจสันติบาลพิจารณาดำเนินการต่อไป
๑๒. ขออนุญาตเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง
๑๒.๑ ผู้ขอยื่นเรื่องราวคำร้องและแบบแปลนแผนผังการก่อสร้างต่อสถานีตำรวจนครบาลท้องที่พร้อม
     สำเนาโฉนดที่ดิน
๑๒.๒ กรณีผู้ขอไม่ใช่เจ้าของที่ดิน ต้องให้เจ้าของที่ดินยินยอมก่อน
๑๒.๓ สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ส่งเรื่องให้ กรมโยธาธิการ, ที่ว่าการกรุงเทพมหานคร, กองบังคับ
     การตำรวจดับเพลิง, กองบังคับการตำรวจจราจร ตรวจสอบมีความเห็น
๑๒.๔ กรณีที่ก่อสร้างเป็นอาคาร ต้องขออนุญาตปลูกสร้างอาคารจากที่ว่าการกรุงเทพมหานคร อีก
     ชั้นหนึ่ง
๑๒.๕ สถานีตำรวจนครบาลท้องที่รวบรวมหลักฐานทั้งหมดเสนอตามลำดับชั้นถึงผู้บังคับการ
๑๒.๖ ผู้บังคับการ จะนัดประชุมคณะกรรมการและส่งเรื่องคืนสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ เพื่อทำ
     หนังสือนัดกรรมการประชุม
๑๒.๗ เมื่อประชุมเรียบร้อยแล้วเสนอถึงกองบัญชาการตำรวจนครบาล
๑๒.๘ กองบัญชาการตำรวจนครบาล พิจารณามีความเห็นเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา
๑๒.๙ กรณีขอเก็บน้ำมันในถังใหญ่ (เช่น คลังน้ำมัน) ต้องเสนอกระทรวงมหาดไทยพิจารณาอนุมัติ
     ก่อน

๑๓. ขออนุญาตชกมวยชั่วคราว
๑๓.๑ ต้องเป็นงานเทศกาล หรืองานนักขัตฤกษ์
๑๓.๒ ผู้ขออนุญาตยื่นเรื่องราวต่อสถานีตำรวจนครบาลท้องที่
๑๓.๓ แบบแปลนแผนผันสถานที่ กรณีผู้ของไม่ใช่เจ้าของสถานที่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของ
     สถานที่ก่อน
๑๓.๔ คำร้อง พน.๑ (คำขออนุญาตเล่นการพนันชกมวย)
๑๓.๕ คำรับรองของกรรมการห้ามมวย, กรรมการจับเวลา และ
๑๓.๖ เสนอตามลำดับชั้นถึงกองบัญชาการตำรวจนครบาลพิจารณา
 หมายเหตุ การดำเนินการขออนุญาตต่างๆ ควรยื่นยังสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ ก่อนที่จะถึงกำหนด
วันขออนุญาตอย่างน้อย ๑๕ วัน

การยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหา
              
ตามนัยประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๑๐ และมาตรา ๑๑๔ วรรคสอง
มาตรา ๑๑๐ “ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีขึ้นไปผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวต้องมีประกัน และ
จะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้
ในคดีอย่างอื่นจะปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันเลย หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็
ได้”
มาตรา ๑๑๔ “เมื่อจะปล่อยชั่วคราวโดยให้มีประกันและหลักประกันด้วยก่อนปล่อยตัวไป ให้ผู้ร้อง
ขอประกันจัดหาหลักประกันมาดั่งต้องการ”
หลักประกันมี ๓ ชนิด คือ
(๑) มีเงินสดมาวาง
(๒) มีหลักทรัพย์อย่างอื่นมาวาง
(๓) มีบุคคลมาเป็นหลักประกันโดยแสดงหลักทรัพย์
หลักทรัพย์ที่ใช้ประกัน
๑. เงินสดเป็นธนบัตรของรัฐบาลไทย
๒. โฉนดที่ดินซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้ประเมินราคาแล้ว หรือพนักงานสอบสวนเชื่อว่า ที่ดินมีราคาสูง
   ไม่น้อยกว่า ๒ เท่าของจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญาประกัน
๓. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส. ๓ ก. ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินประเมินราคาหรือพนักงานสอบ
   สวนเชื่อว่าที่ดิน มีราคาไม่น้อยกว่า ๒ เท่าของจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาประกัน
๔. พันธบัตรของรัฐบาลไทย
๕. สลากออกมสินและสมุดฝากเงินประเภทประจำ
๖. ใบรับฝากประจำของธนาคาร
๗. ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้จ่าย และธนาคารผู้จ่ายได้รับรองตลอดไปแล้ว
๘. ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้ออกตั๋ว
๙. เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายหรือรับรอง
๑๐.หนังสือรับรองของธนาคารเพื่อชำระเบี้ยปรับแทนในกรณีผิดสัญญาประกัน
   หลักฐานประกอบ
๑. กรณีที่ผู้ยื่นคำร้องขอประกันเป็นผู้ที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แล้วต้องให้สามีหรือภรรยา
   ที่เป็นคู่สมรสมีหนังสือรับรองอนุญาตให้ทำสัญญาประกันได้
๒. กรณีที่มีผู้อื่นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินที่จะนำมาเป็นหลักประกัน ต้องให้เจ้าของ
   ร่วมมีหนังสือยินยอม ให้นำหลักทรัพย์นั้นมาวางเป็นหลักประกันด้วย
๓. ทุกครั้งที่มาติดต่อกับทางราชากร ควรมีบัตรประจำตัวที่ทางราชการออกมาให้ด้วย

วิธีขอยื่นขอประกัน
๑. ให้ผู้ที่จะมาขอประกันตัวผู้ต้องหาพบ และยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวนที่จะปฏิบัติหน้าที่อยู่ไม่
   ว่าจะเป็นเจ้าของคดีหรือไม่ก็ตาม
๒. หนังสือรับรองของธนาคารเพื่อชำระเบี้ยปรับแทนในกรณีผิดสัญญาประกัน
๓. เมื่อพนักงานสอบสวนรับคำร้องแล้วให้ขอหลักฐานการรับสัญญาประกันซึ่งต้องลงเวลารับคำร้อง
   ไว้ด้วย
๔. เจ้าพนักงานจะพิจารณาแจ้งผลการสั่งคำร้องให้เสร็จภายใน ๒๔ ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รับคำร้อง
๕. หากไม่ได้รับความสะดวกหรือล่าช้า ให้รีบเข้าพบแจ้งต่อสารวัตรใหญ่หรือสารวัตรคนใดคนหนึ่ง
   ทราบทันที

การใช้บุคคลเป็นประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราว
ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๖๒๒/๒๕๓๖ เรื่อง การใช้บุคคลเป็นประกันหรือหลัก
ประกันในการปล่อยชั่วคราว ได้วางหลักเกณฑ์เป็นทางปฏิบัติ ดังนี้
๑. ให้ข้าราชการพลเรือนระดับ ๓ ถึง ๕ หรือข้าราชการอื่นที่เทียบเท่าข้าราชการหรือข้าราชการ
ตำรวจที่มียศตั้งแต่ร้อยตรี - เรือตรี เรืออากาศตรีหรือร้อยตำรวจตรีถึงพันตรี นาวาตรี นาวาอากาศตรี หรือพัน
ตำรวจตรี ทำสัญญาประกันผู้อื่นหรือตนเองได้ในวงเงินไม่เกินหกหมื่นบาท (๖๐,๐๐๐ บาท)
ให้ข้าราชการพลเรือนระดับ ๖ ถึง ๘ หรือข้าราชการอื่นที่เทียบเท่าข้าราชการทหาร หรือข้าราชการ
ตำรวจที่มียศตั้งแต่พันโท นาวาโท นาวาอากาศโท หรือพันตำรวจโทถึงพันเอก นาวาอากาศเอกหรือพันตำรวจ
เอก ข้าราชการตุลาการหรือข้าราชการอัยการ ตั้งแต่ชั้น ๑ หรือ ๒ ทำสัญญาประกันผู้อื่นหรือตนเองได้ในวง
เงินไม่เกินสองแสนบาท (๒๐๐,๐๐๐ บาท)
ให้ข้าราชการพลเรือนระดับ ๙ หรือ ๑๐ หรือข้าราชการอื่นที่เทียบเท่า ข้าราชการทหาร หรือข้าราช
การตำรวจที่มียศตั้งแต่พันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอก หรือพันตำรวจเอกที่ได้รับอัตราเงินเดือนพันเอก
(พิเศษ) นาวาเอก (พิเศษ) นาวาอากาศเอก (พิเศษ) หรือพันตำรวจเอก (พิเศษ) ถึงพลตรี พลเรือตรี พลอากาศ
ตรี หรือพลตำรวจตรี ข้าราชการตุลาการ หรือข้าราชการอัยการ ตั้งแต่ชั้น ๓ ถึง ๔ ทำสัญญาประกันผู้อื่น
หรือตนเองได้ในวงเงินไม่เกินห้าแสนบาท (๕๐๐,๐๐๐ บาท)
ให้ข้าราชการพลเรือนระดับ ๑๑ หรือข้าราชการอื่นที่เทียบเท่าข้าราชการทหาร หรือข้าราชการ
ตำรวจที่มียศตั้งแต่พลโท พลเรือโท พลอากาศโทหรือพลตำรวจโท ข้าราชการตุลาการหรือข้าราชการอัยการตั้ง
แต่ชั้น ๕ ขึ้นไปทำสัญญาประกันผู้อื่นหรือตนเองได้ในวงเงินไม่เกินหนึ่งล้านบาท (๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท)
ข้าราชการดังกล่าวในข้อ ๑ หมายถึงข้าราชการประจำเท่านั้น
๒. ให้ข้าราชการบำนาญตั้งแต่ระดับ ๖ หรือเทียบเท่าขึ้นไปทำสัญญาประกันผู้อื่น หรือตนเองได้ใน
วงเงินไม่เกินหกหมื่นบาท (๖๐,๐๐๐ บาท)
๓. ให้พนักงานรัฐวิสาหกิจทำสัญญาประกันผู้อื่นหรือตนเองได้ในทำนองเดียวกับข้าราชการตามที่
ระบุไว้ในข้อ ๑ 
๔. ให้สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการการเมือง หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำสัญญาประกันผู้อื่น
หรือตนเองได้ในวงเงินไม่เกินหนึ่งล้านบาท (๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท)
๕. ให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกสภาเมืองพัทยา
สมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร กรรมการสุขาภิบาล กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ทำสัญญาประกันผู้อื่นหรือตนเอง
ได้ในวงเงินไม่เกินหกหมื่นบาท (๖๐,๐๐๐ บาท)
๖. ให้ผู้ที่ขอทำสัญญาประกันตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๕ แสดงบัตรประจำตัวต่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิด
ชอบพิจารณาอนุญาตโดยไม่ชักช้าในกรณีจำเป็นเพื่อทราบเกี่ยวกับสถานะ ระดับอัตราเงินเดือน หรือภาระผูก
พันอื่นใดอาจให้ผู้ยื่นประกันแสดงหนังสือรับรองจากต้นสังกัดและภาระผูกพันนั้น ภายในห้าวันนับตั้งแต่วันที่
ได้รับอนุญาตให้ประกัน
๗. ในกรณีบุคคลตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๕ บุคคลใดได้ทำสัญญาประกันผู้อื่นหรือตนเองไว้ แต่หลัก
ประกันยังไม่เป็นการเพียงพอให้ใช้บุคคลตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๕ บุคคลอื่นหรือใช้หลักทรัพย์อื่นเป็นหลักประกัน
เพิ่มเติมได้



 
ที่มา : กระทรวงยุติธรรม

กฎหมายประกันสังคม

กฎหมายประกันสังคม
 
 
 
 
  
 
 
กฎหมายประกันสังคม เป็นกฎหมายที่กำหนดการให้หลักประกันแก่บุคคลในสังคมที่มีปัญหา หรือ
ความเดือดร้อนทางด้านการเงิน เนื่องจากการประสบเคราะห์ภัย หรือมีเหตุการณ์อันทำให้เกิดปัญหาในการ
ดำรงชีพ ซึ่งต้องการได้รับความช่วยเหลือ ในลักษณะเฉลี่ยความเสี่ยง เฉลี่ยทุกข์สุขร่วมกันระหว่างประโยชน์
ในสังคมโดยการรวบรวมเงินเข้าเป็นกองทุนและจ่ายช่วยเหลือนั้นก็คือ ผู้ที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนที่ได้ปฏิบัติ
ตามเงื่อนไขอันก่อให้เกิดสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง

ขอบเขตการใช้บังคับกฎหมายประกันสังคม
ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ได้กำหนดให้
สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่ ๒๐ คนขึ้นไป และนายจ้างของสถานประกอบกิจการนั้นต้องอยู่
ภายใต้บังคับของกฎหมายดังกล่าว แต่เมื่อพ้นกำหนด ๓ ปี นับแต่วันที่กฎหมายนี้ใช้บังคับ คือนับแต่วันที่
๒ กันยายน ๒๕๓๓ กฎหมายฉบับนี้ก็จะใช้บังคับขยายไปยังกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไปด้วย
(มาตรา ๑๐๓) และแม้ต่อมาภายหลัง กิจการของนายจ้างมีจำนวนลูกจ้างลดลงเหลือไม่ถึงจำนวนที่กฎหมาย
กำหนด กิจการดังกล่าวก็ยังคงอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ต่อไป จนกว่าจะเลิกกิจการ ลูกจ้างที่ทำงานในกิจการ
ดังกล่าวซึ่งอยู่ฐานะเป็นผู้ประกันตนมาตั้งแต่แรกก็ยังคงเป็นผู้ประกันตนต่อไปจนกว่าจะพ้นสภาพการเป็นลูก
จ้าง และลูกจ้างที่เข้าทำงานใหม่ก็ต้องเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายนี้ด้วย แม้ว่าจำนวนลูกจ้างรวมทั้งเก่าและ
ใหม่แล้วจะไม่ถึง ๒๐ คนก็ตาม (มาตรา ๔๓)

บุคคลหรือกิจการที่กฎหมายประกันสังคมไม่ใช้บังคับ มีดังนี้
๑) ข้าราชการ และลูกจ้างประจำของหน่วยราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น (มาตรา
๔ (๑))
๒) ลูกจ้างของรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ (มาตรา ๔ (๒))
๓) ลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศและไปประจำทำงานในต่างประเทศ (มาตรา ๔ (๓))
๔) ครูหรือครูใหญ่ของโรงเรียนเอกชน (มาตรา ๔ (๔))
๕) นักเรียน นักเรียนพยาบาล นิสิตหรือนักศึกษา หรือแพทย์ฝึกหัด ซึ่งเป็นลูกจ้างของโรงเรียน
หรือมหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาล (มาตรา ๔ (๕))
๖) ลูกจ้างงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย (มาตรา ๕)
๗) กิจการหรือลูกจ้างอื่นตามพระราชกฤษฎีกา (มาตรา ๔ (๖)) ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม
๒๕๓๔ อันได้แก่ ลูกจ้างของสภากาชาดไทย ลูกจ้างและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างของกิจการเพาะปลูก
ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมิใช่ลูกจ้างตลอดปี และไม่มีงานลักษณะอื่นรวมอยู่ด้วย และลูกจ้างในงาน
ลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร หรือเป็นไปตามฤดูกาล

ผู้ประกันตน
ลูกจ้างซึ่งมีฐานะเป็นผู้ประกันตน ก็คือ บุคคลที่สมัครเข้าทำงานในสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้าง
รวมกันตั้งแต่ ๒๐ คนขึ้นไป โดยกฎหมายประกันสังคมบังคับให้ลูกจ้างดังกล่าวต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน
ประกันสังคม ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้หักเงินค่าจ้างทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้างและนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมเป็น
เงินสมทบส่วนของลูกจ้าง
ส่วนผู้ประกอบอาชีพอิสระและบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกจ้างอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนได้ โดยแสดง
ความจำนงต่อสำนักงานประกันสังคม แต่ในปัจจุบันจะยังสมัครไม่ได้ ต้องรอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกา
ซึ่งจะมีภายใน ๔ ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ใช้บังคับ นั่นคือภายในวันที่ ๒
กันยายน ๒๕๓๗
ลูกจ้างจะไม่เป็นผู้ประกันตนอีกต่อไป ถ้าลูกจ้างตายหรือสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง เมื่อสัญญาจ้าง
แรงงานระงับ เมื่อสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนแล้ว บุคคลที่เคยเป็นลูกจ้างนั้นก็หลุดพ้นจากภาระการจ่ายเงิน
สมทบเข้ากองทุนประกันสังคม และไม่มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนซึ่งเป็นความช่วยเหลือจากกองทุนประกัน
สังคมได้อีกต่อไป เว้นแต่จะเป็นการประกันสังคมประเภทประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยนอกงาน หรือ
คลอดบุตร ซึ่งบุคคลนั้นได้ส่งเงินสมทบมาครบเงื่อนไขที่จะก่อให้เกิดสิทธิรับประโยชน์ทดแทนแล้ว เมื่อพ้น
สภาพการเป็นลูกจ้างก็ยังคงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในการรับบริการทางการแพทย์ต่อไปอีก ๖ เดือน
นับจากวันสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง (มาตรา ๓๘ วรรคท้าย)

หน้าที่ของนายจ้าง
นายจ้าง หมายถึง ผู้ซึ่งรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้าง และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทน
นายจ้างในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนต่าง ๆ นายจ้างหมายความรวมถึง
ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการ
แทนด้วย นอกจากนั้นผู้ประกอบกิจการที่จ้างโดยวิธีเหมาค่าแรงมอบให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดรับช่วงไป
ควบคุมดูแลการทำงานและรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอีกทอดหนึ่ง หรือมอบหมายให้บุคคลหนึ่ง
บุคคลใดเป็นผู้จัดการหาลูกจ้างมาทำงาน อันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่ง
ส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจซึ่งกระทำในสถานประกอบกิจการ หรือสถานที่ทำงานของผู้ประกอบ
กิจการ และเครื่องมือสำคัญสำหรับใช้งาน ผู้ประกอบกิจการเป็นผู้จัดหาลูกจ้างกฎหมายกำหนดให้มีฐานะเป็น
นายจ้างด้วย (มาตรา ๓๕)

กฎหมายประกันสังคมฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้กำหนดให้นายจ้างต้องมีหน้าที่ดังนี้
๑) ยื่นแบบรายการแสดงรายชื่อลูกจ้าง อัตราค่าจ้าง เลขประจำตัวประชาชนของลูกจ้าง จำนวน
ลูกจ้างชาย - หญิง จำนวนรวมของลูกจ้าง (กรณีมีลูกจ้างประจำทำงานท้องที่อื่นนอกจากสำนักงานใหญ่
นายจ้างต้องแยกรายชื่อลูกจ้างตามท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานด้วย) โดยกรอกข้อความในแบบ สปส. ๑ - ๐๒ แล้ว
ยื่นต่อสำนักงานประกันสังคมภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างนั้นเป็นผู้ประกันตน (มาตรา ๓๔) และเมื่อมี
การเปลี่ยนแปลงข้อมูลเกี่ยวกับข้อความในแบบรายการที่ได้ยื่นไว้ นายจ้างก็ต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อสำนักงาน
ประกันสังคมขอเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ทราบการเปลี่ยนแปลง
ดังกล่าว (มาตรา ๔๔) นอกจากนั้นนายจ้างต้องยื่นแบบลงทะเบียนนายจ้าง พร้อมกับการยื่นแบบรายการแสดง
รายชื่อลูกจ้างด้วยตามแบบ สปส. ๑ - ๐๑ เมื่อยื่นแบบ สปส. ๑ - ๐๑ และ สปส. ๑ - ๐๒ แล้ว สำนักงาน
ประกันสังคมก็จะออกหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้แก่นายจ้างและออกบัตรประกัน
สังคมให้แก่ลูกจ้าง (มาตรา ๓๖) กรณีฝ่าฝืนหน้าที่นี้โดยเจตนาหรือกรอกข้อความอันเป็นเท็จ นายจ้างมี
ความรับผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าเป็น
ความผิดต่อเนื่อง จะมีโทษปรับอีกวันละไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน (มาตรา ๙๖)
๒) จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมร่วมกับผู้ประกันตนหรือลูกจ้างและรัฐบาลฝ่ายละเท่าๆ
กัน ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่เกินร้อยละ ๑.๕ ของค่าจ้างสำหรับการประกันกรณีประสบ
อันตรายหรือเจ็บป่วยนอกงาน คลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย ไม่เกินร้อยละ ๓ สำหรับการประกันกรณี
สงเคราะห์บุตรและชราภาพ และไม่เกินร้อยละ ๕ สำหรับกรณีประกันการว่างงาน (มาตร ๔๖) โดยการ
คำนวณเงินสมทบให้คำนวณค่าจ้างเป็นรายวัน หากลูกจ้างรายใดมีค่าจ้างเกินวันละ ๕๐๐ บาท ก็ให้คิดค่าจ้าง
สูงสุดเพียงวันละ ๕๐๐ บาท ถ้าลูกจ้างทำงานกับนายจ้างหลายราย นายจ้างแต่ละรายต้องจ่ายเงินสมทบตาม
อัตราค่าจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างของตน โดยเป็นหน้าที่ของนายจ้างทุกรายที่ต้องทำแยกต่างหากจากกัน
นอกจากนั้นกรณีมีการจ้างเหมาช่วง ผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปจากนายจ้างและผู้รับเหมาชั้นต้นต้องร่วมรับผิดกับ
นายจ้างในเงินสมทบซึ่งนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายด้วย (มาตรา ๕๒)
๓) หักค่าจ้างของผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างตามจำนวนที่จะต้องเป็นเงินสมทบในส่วนของลูกจ้าง
และนำส่งสำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ ๑๕ ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบ (มาตรา ๔๗)
พร้อมยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ กรณีที่นายจ้างไม่นำส่งหรือนำส่งล่าช้าก็ไม่เป็นการตัดสิทธิของ
ลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่จะพึงได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนประกันสังคมในรูปของประโยชน์ทดแทน
โดยถือเสมือนหนึ่งว่าผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบแล้ว (มาตรา ๔๙ วรรค ๒) นายจ้างที่ฝ่าฝืนหน้าที่จ่ายเงิน
สมทบหรือไม่นำส่งเงินสมทบ มีความรับผิดในเงินเพิ่มอัตราร้อยละ ๒ ต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่ยัง
ไม่ได้นำส่งหรือที่ยังขาดอยู่ นับจากวันที่ต้องนำส่ง เศษของเดือนถ้าถึง ๑๕ วันหรือกว่านั้น ให้นับเป็น
หนึ่งเดือน ถ้าน้อยกว่าก็ให้ปัดทิ้ง (มาตรา ๔๙ วรรค ๑)
๔) จัดให้มีทะเบียนผู้ประกันตนและเก็บรักษาไว้ ณ สถานที่ทำงานของนายจ้างสำหรับให้พนักงาน
เจ้าหน้าที่สามารถตรวจควบคุมได้ (มาตรา ๘๔) ถ้านายจ้างฝ่าฝืนหน้าที่นี้ มีความรับผิดต้องระวางโทษจำคุก
ไม่เกิน ๑ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา ๙๙)
กรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคล และนิติบุคคลกระทำผิดและถูกลงโทษตามกฎหมายประกันสังคม
ดังกล่าว กฎหมายให้ถือว่าผู้แทนนิติบุคคล กรรมการทุกคนและผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคล
นั้นต้องระวางโทษเช่นเดียวกับนิติบุคคลนั้นด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิด
นั้น หรือได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้นแล้ว (มาตรา ๑๐๑)

เงินสมทบ
เงินสมทบ หมายถึง เงินที่นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล หรือเงินที่ผู้ประกันตนและรัฐบาลร่วมกัน
จ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อจ่ายเป็นประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิรับประโยชน์
ทดแทน เมื่อเกิดเคราะห์ภัยหรือประสบความเดือดร้อนและเข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด โดยอัตราเงิน
สมทบในปัจจุบันเป็นดังที่กล่าวมาแล้วในหน้าที่จ่ายเงินสมทบของนายจ้าง แต่นายจ้างที่จัดสวัสดิการให้แก่
ลูกจ้างสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด สามารถขอลดส่วนอัตราเงินสมทบได้ทั้งของนายจ้างและลูกจ้าง โดยนำ
ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน สัญญาจ้างแรงงาน หรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งกำหนดให้
สวัสดิการที่สูงกว่านั้นไปแสดงต่อคณะกรรมการประกันสังคม โดยมีหลักเกณฑ์การขอลดส่วนอัตราเงินสมทบ
ดังนี้
๑) นายจ้างได้จัดสวัสดิการเกี่ยวกับการประกันอันตรายหรือเจ็บป่วยนอกงาน หรือทุพพลภาพ หรือ
ตาย หรือคลอดบุตร หรือสงเคราะห์บุตร หรือชราภาพ หรือว่างงานให้แก่ลูกจ้างไว้แล้ว
๒) เป็นการจัดสวัสดิการไว้ก่อนวันที่กฎหมายประกันสังคมฉบับปัจจุบันใช้บังคับ
๓) สวัสดิการที่จัดไว้นั้นให้ประโยชน์แก่ลูกจ้างสูงกว่าประโยชน์ทดแทนที่ลูกจ้างมีสิทธิตาม
กฎหมายประกันสังคม
๔) ต้องระบุให้สวัสดิการดังกล่าวไว้ในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน สัญญาจ้างแรงงาน
หรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
เมื่อมีการนำส่งเงินสมทบเรียบร้อยแล้ว ผู้ประกันตนมีสิทธินำจำนวนเงินสมทบที่จ่ายไปนั้นมาหัก
ลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้และนายจ้างก็สามารถนำจำนวนเงินสมทบที่ตนจ่ายมาหักเป็นค่าใช้จ่าย หรือ
รายจ่ายของนายจ้างก่อนนำมาคำนวณภาษีได้
ประโยชน์ทดแทน
ประโยชน์ทดแทน หมายถึง ความช่วยเหลือที่ให้แก่ผู้ประกันตน หรือผู้มีสิทธิ เมื่อผู้ประกันตน
ประสบเคราะห์ภัยหรือเดือดร้อน และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดแล้ว

เงื่อนไขของสิทธิรับประโยชน์ทดแทนที่กฎหมายกำหนด มีดังนี้
๑) เงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบ
ก. ประกันอันตรายเพื่อเจ็บป่วยนอกงาน ต้องจ่ายมาแล้ว
ไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน ภายในระยะเวลา ๑๕ เดือน ก่อนรับบริการทางการแพทย์
                   
ข. คลอดบุตร ต้องจ่ายมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒๑๐ วัน ภายในระยะเวลา ๑๕ เดือน ก่อนรับ
บริการทางการแพทย์
ค. ทุพพลภาพ ต้องจ่ายมาแล้วไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน ภายในระยะเวลา ๑๕ เดือน ก่อนทุพพลภาพ
ง. ตาย ต้องจ่ายมาแล้วไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน ภายในระยะเวลา ๖ เดือนก่อนตาย
จ. สงเคราะห์บุตร ต้องจ่ายมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ปี
ฉ. ชราภาพ ต้องจ่ายมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๕ ปี ไม่ว่าระยะเวลานั้นจะติดต่อกันหรือไม่
ช. ว่างงาน ต้องจ่ายมาแล้วไม่น้อยกว่า ๖ เดือน ภายในระยะเวลา ๑๕ ปี ก่อนว่างงาน

๒. เงื่อนไขอื่น ๆ
ก. คลอดบุตร มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนไม่เกิน ๒ ครั้ง สำหรับผู้ประกันตนหรือคู่สมรส
ข. สงเคราะห์บุตร มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนสำหรับจำนวนบุตร ไม่เกิน ๒ คน
ค. ชราภาพ ผู้ประกันตนต้องมีอายุครบ ๕๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
ง. ว่างงาน ผู้ประกันตนต้องมีความสามารถในการทำงาน พร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตาม
ที่จัดหาให้หรือไม่ปฏิเสธการฝึกงาน และได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐโดยต้องไปรายงานตัวไม่
น้อยกว่าเดือนละ ๑ ครั้ง และผู้ประกันตนว่างงานโดยมิได้ถูกจ้างเนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิด
อาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยว
กับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีร้ายแรง หรือละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา ๗ วันทำงานติดต่อ
กันโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือได้
รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือ
ความผิดลหุโทษ และผู้ประกันตนต้องมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ โดยผู้ประกันตนจะมี
สิทธิรับประโยชน์ทดแทนการว่างงานตั้งแต่วันที่ ๘ นับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย
กฎหมายกำหนดข้อยกเว้นของสิทธิรับประโยชน์ทดแทนไว้สำหรับการประกันกรณีประสบอันตราย
หรือเจ็บป่วยนอกงาน ทุพพลภาพ หรือตาย นั่นคือผู้ประกันตนหรือผู้จัดการศพแล้วแต่กรณี จะไม่มีสิทธิรับ
ประโยชน์ทดแทน ถ้าปรากฏว่าการประกันเคราะห์ภัยนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุที่ผู้ประกันตนหรือผู้จัดการศพจงใจ
ก่อให้เกิดหรือยินยอมให้ผู้อื่นก่อให้เกิดขึ้น ผู้จัดการศพตามกฎหมายประกันสังคม ได้แก่บุคคลตามลำดับ
ดังนี้ (มาตรา ๗๓)
(๑) บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้จัดการศพและได้เป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน
(๒) คู่สมรส บิดา มารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนที่มีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ ผู้ประกันตน
(๓) บุคคลอื่นที่มีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน

รูปแบบของประโยชน์ทดแทนมี ๔ รูปแบบ คือ
(๑) บริการทางการแพทย์
(๒) เงินทดแทนการขาดรายได้
(๓) ค่าทำศพ

(๔) เงินสงเคราะห์

             (๑) บริการทางการแพทย์ ในปัจจุบันมีโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลในสังกัดทั้งรัฐบาลและ
เอกชน ประมาณ ๑๕๐ กว่าแห่ง ลูกจ้างผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยนอกงานมีสิทธิขอรับ
บริการทางการแพทย์ในรูปของเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ ดังนี้

ก. กรณีฉุกเฉิน ซึ่งต้องไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลอื่นนอกจากที่
สำนักงานประกันสังคมได้กำหนดให้สำหรับผู้ประกันตน เมื่อผู้ประกันตนต้องทดรองจ่ายไปก่อน โดย
ผู้ประกันตนเป็นผู้ป่วยนอก ก็สามารถเบิกคืนจากสำนักงานประกันสังคมได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน
ครั้งละ ๒๐๐ บาท และไม่เกิน ๔๐๐ บาทต่อปี แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยในจะสามารถเบิกคืนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง
แต่ไม่กินครั้งละ ๓,๒๐๐ บาท และสำหรับกรณีจำเป็นต้องผ่าตัดฉุกเฉินและเป็นการผ่าตัดใหญ่ มีสิทธิเบิกคืน
ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินครั้ง ๑๐,๐๐๐ บาท
ข. กรณีปกติ ที่สำนักงานประกันสังคมยังไม่ได้ออกบัตรรับรองสิทธิให้ เมื่อผู้ประกัน
ตนต้องทดรองจ่ายไป ก็สามารถเบิกคืนจากสำนักงานประกันสังคมโดยนำใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลของ
สถานพยาบาลมายื่นต่อสำนักงานประกันสังคมเพื่อพิจารณา โดยถ้าเป็นสถานพยาบาลของรัฐและผู้ประกันตน
เป็นผู้ป่วยนอกสามารถเบิกได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยในสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้
เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ส่วนค่าห้องและค่าอาหารสามารถเบิกได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน
วันละ ๓๐๐ บาท ตลอดระยะเวลาที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ ส่วนถ้าเป็นสถานพยาบาลของเอกชน เบิกได้
เฉพาะกรณีเป็นผู้ป่วยใน สำหรับค่ารักษาพยาบาล เบิกได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน ๓,๐๐๐
บาท สำหรับระยะเวลาภายในสามสิบวันนับแต่วันแรกที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ ส่วนระยะเวลาที่เกิน
สามสิบวัน เบิกได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินวันละ ๑๐๐ บาท และกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาล
หลายครั้งโดยระยะห่างกันไม่เกิน ๑๕ วัน ให้นับระยะเวลาเข้ารับการรักษาทุกครั้งเข้าด้วยกัน และสำหรับ
ค่าห้องและค่าอาหาร เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินวันละ ๓๐๐ บาท ตลอดระยะเวลาที่เข้ารับบริการทางการ
แพทย์
ลูกจ้างผู้ประกันตนหรือคู่สมรสของผู้ประกันตนที่คลอดบุตร สามารถเบิกค่าบริการ
ทางการแพทย์แบบเหมาจ่าย โดยได้รับในอัตรา ๓,๐๐๐ บาทต่อการคลอดหนึ่งครั้ง
(๒) เงินทดแทนการขาดรายได้ กฎหมายกำหนดให้มีการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้
ร้อยละ ๕๐ ของค่าจ้างรายวันที่ใช้คำนวณเงินสมทบ โดยคำนวณเฉลี่ยจากค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณ
เงินสมทบเป็นเวลา ๙๐ วัน ก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ ไม่ว่าระยะเวลานั้นจะติดต่อกันหรือไม่ (มาตรา
๕๗) โดยจ่ายสำหรับการประกัน ๓ ประเภท คือ การประกันอันตรายหรือเจ็บป่วยนอกงาน การคลอดบุตร
และการทุพพลภาพ ในกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้รับจ้างในระหว่างหยุดงานเพื่อรักษาตามกฎหมายคุ้มครอง
แรงงาน หรือตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับ
สภาพนายจ้าง แล้วแต่กรณี หรือสิทธิได้รับค่าจ้างดังกล่าวสิ้นสุดลง ก็จะจ่ายเท่าระยะเวลาที่คงเหลือ ส่วนกรณี
ได้รับค่าจ้างดังกล่าวน้อยกว่าเงินทดแทนการขาดรายได้ ก็จะจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ในส่วนที่ยังขาดอยู่
ระยะเวลาการได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ของผู้ประกันตนหรือคู่สมรส แตกต่างกันตาม
ประเภทของการประกันสังคม ดังนี้
ก. การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยนอกงาน มีสิทธิได้รับครั้งละไม่เกิน ๙๐ วัน และใน
ระยะหนึ่งปีปฏิทินไม่เกิน ๑๘๐ วัน เว้นแต่การเจ็บป่วยเรื้อรังตามที่กำหนดในกฎกระทรวงได้รับเกิน ๑๘๐
วัน แต่ไม่เกิน ๓๖๕ วันนับแต่วันแรกที่ต้องหยุดงานตามคำสั่งแพทย์จนถึงวันสุดท้ายที่แพทย์กำหนดให้หยุด
หรือจนถึงวันสุดท้ายที่หยุดงาน กรณีกลับเข้าทำงานก่อนครบกำหนดตามคำสั่งแพทย์ (มาตรา ๖๔)
ข. การคลอดบุตร มีสิทธิได้รับครั้งละไม่เกิน ๖๐ วัน (มาตรา ๖๗)
ค. การทุพพลภาพ มิสิทธิได้รับต่อไปจากที่ได้รับมาแล้ว กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
นอกงานเป็นเวลาไม่เกิน ๑ ปี โดยได้รับต่อไปอีก ๑๕ ปี (มาตรา ๗๑)
(๓) ค่าทำศพ กฎหมายกำหนดให้จ่ายค่าทำศพกรณีตาย เป็นจำนวน ๑๐๐ เท่าของอัตรา
สูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน (มาตรา ๗๓) ซึ่งปัจจุบันอัตราสูงสุดของค่าจ้าง
ขั้นต่ำรายวันก็คือ ๑๒๕ บาท ดังนั้นค่าทำศพจึงเป็นจำนวน ๑๒,๕๐๐ บาท
(๔) เงินสงเคราะห์ การจ่ายประโยชน์ทดแทนในรูปเงินสงเคราะห์มี ๓ กรณี คือ กรณี
สงเคราะห์บุตร (มาตรา ๗๕) กรณีชราภาพ (มาตรา ๗๗) และกรณีว่างงาน (มาตรา ๗๙)
ดังนั้น เมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาครบกำหนดระยะเวลาที่เป็นเงื่อนไขตามกฎหมาย
แล้ว เกิดประสบเคราะห์ภัยหรือได้รับความเดือดร้อนตามประเภทของการประกันภัยสังคมแต่ละประเภท ก็จะ
มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาข้างต้น โดยสำนักงานประกันสังคมจะเป็น
องค์กรที่รับผิดชอบดูแลให้ผู้ประกันตน หรือผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนได้รับความช่วยเหลือเพื่อบรรเทา
ความเดือดร้อนในสังคม

 





ที่มา   ::   ที่มา : กระทรวงยุติธรรม