วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เรียกดอกเบี้ยเงินกู้เกินที่กฎหมายกำหนดย่อมตกเป็นโมฆะ


เรียกดอกเบี้ยเงินกู้เกินที่กฎหมายกำหนดย่อมตกเป็นโมฆะ   




                                                                      


                                                                       
 
สังคมไทยทุกวันนี้มีคนรวยน้อยแต่มีคนจนมากรายได้ไม่พอรายจ่ายจึงจำเป็นต้องมีการกู้ยืมกัน ทุกวันนี้ได้เกิดเป็นธุรกิจเงินกู้ทั้งถูกต้องตามกฎหมายก็มีและที่ผิดกฎหมายก็มาก กฎหมายจึงต้องควบคุมมิให้มีการเอาเปรียบกันเกินไปเช่นการ ควบคุมอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น โดยหลักแล้ว มีกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654บัญญัติว่า "ห้ามมิให้เรียกดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี" ดังนั้นการกู้ยืมเงินที่เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดคือร้อยละ 15 ต่อปี (เว้นแต่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นที่กฎหมายยกเว้นให้เรียกดอกเบี้ยเงินกู้เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้ตามกฎหมายเฉพาะ) ดอกเบี้ยเกินกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะ ผู้ให้กู้จะฟ้องเรียกร้องบังคับมิได้
แต่ในความเป็นจริงโลกมิได้สวยงามดังที่คิด มีการเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้กันโหดเหลือเกิน เช่น เรียกดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมร้อยละ 3 ต่อเดือน(นั่นเท่ากับร้อยละ 36 ต่อปีเชียวนะครับ) หรือร้อยละ 5 ต่อเดือน (ร้อยละ 60 ต่อปี) จะเห็นได้ว่าข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะเสียทั้งสิ้น แล้วถ้าผู้ให้กู้จะกลับมาเรียกดอกเบี้ยตามกฎหมายคือไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ได้หรือไม่? คำตอบคือ ไม่ได้ ครับ เหตุผลก็ตรงตัวอยู่แล้วครับว่า เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะเสียแล้ว ถือว่าไม่มีดอกเบี้ยต่อกัน ก็เท่ากับว่าไม่มีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยอยู่เลย (แม้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 จะระบุว่าถ้าในสัญญาเรียกดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี ก็ตามเพราะข้อตกลงตกเป็นโมฆะเนื่องจากขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา มาตรา 3)


แต่เจ้าหนี้ไม่ต้องตกใจว่าเงินที่ให้กู้จะสูญเปล่า และลูกหนี้ก็ไม่ต้องไชโยโห่ร้องนะครับ แม้ข้อตกลงเรื่อง ดอกเบี้ยจะตกเป็นโมฆะ ถือว่าไม่มีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยต่อกัน แต่สัญญากู้ยืมเงินยังสมบูรณ์อยู่ แล้วจะคิดดอกเบี้ยกันได้หรือไม่? อัตราร้อยละเท่าใด? ประเด็นนี้มีกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 บัญญัติว่า " ถ้ามิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรม หรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี" และมาตรา 224 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "หนี้เงินนั้นให้คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี" ดังนั้น เมื่อผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระเงินต้น ผู้กู้ก็จะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด (ฎีกาที่ 4010/2530, 999/2531 )


กรณีที่ผู้กู้ได้เคยชำระดอกเบี้ยที่เกินกว่าอัตรากฎหมายกำหนดให้แก่ผู้ให้กู้ไปแล้ว เช่น อัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน หรือร้อยละ 5 ต่อเดือน เช่นนี้ ผู้กู้จะมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยนั้นคืนจากผู้ให้กู้ได้หรือไม่? หรือผู้กู้จะนำมาหักกับดอกเบี้ยที่ยังค้างอยู่ได้หรือไม่? ซึ่งถ้าทำได้ผู้กู้ก็อาจนำมาหักดอกเบี้ยจากเงินต้นได้ซึ่งอาจเพียงพอที่จะชำระหนี้ กรณีนี้ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาแล้วโดยวินิจฉัยว่า "การที่ผู้กู้ยินยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแก่ผู้ให้กู้ ถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ โดยรู้ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ผู้กู้จึงไม่มีสิทธิเรียกคืน (กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407) จึงไม่มีสิทธิที่จะให้นำไปหักดอกเบี้ยตามกฎหมาย หรือ หักจากยอดเงินต้นให้ลดน้อยลงได้ " (ฎีกาที่ 4133/2529 ,999/2531 ,533/2532)


อย่างไรก็ตาม การกู้ยืมเงินกันย่อมได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องตระหนักถึงความถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมายด้วยนะครับ เจ้าหนี้ก็อย่าโหดนัก ลูกหนี้ก็อย่าบูดเบี้ยวนักนะครับ




 
 
ที่มา   ::  บทความโดย : คุณพิทยา  http://www.geocities.com/ruammitra/index.html
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น