วันจันทร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2554

โภชนาการที่ดีระหว่างตั้งครรภ์

โภชนาการที่ดีระหว่างตั้งครรภ์
 
 
อาหารสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
เราต่างก็ทราบกันดีว่าการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพนั้นย่อมส่งผลดีต่อตัวเรา แต่ไม่มีช่วงไหนจะสำคัญไปกว่าช่วงที่คุณกำลังตั้งครรภ์ แม้คุณแม่จะไม่ค่อยได้ใส่ใจกับการทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมาก่อน แต่จากนี้ไป คุณแม่จะต้องเริ่มให้ความใส่ใจมากขึ้น โดยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทานที่เคยชินของคุณแม่ให้เป็นไปในทางบวกให้มากขึ้น
 
อาหารที่คุณแม่ควรรับประทาน

ระหว่างการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์จะได้รับสารอาหารทั้งหมดที่ต้องการในการเจริญเติบโตจากคุณแม่ ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่และลูกน้อยมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรงในช่วงเวลาอันน่าตื่นเต้นนี้ คุณแม่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและการได้รับสารอาหารครบทั้งห้าหมู่

 

คุณแม่สามารถใช้ประโยชน์จากปิรามิดอาหารของเรา ในการตรวจสอบดูว่าคุณแม่ได้รับประทานอาหารในแต่ละหมู่ครบถ้วนเพียงพอที่จะทำให้สุขภาพแข็งแรงหรือไม่  

ปิรามิดอาหาร

เคล็ดลับน่ารู้สำหรับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

  • เลือกอาหารที่หลากหลายจากอาหารในแต่ละหมู่เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่ได้รับอาหารครบทั้งห้าหมู่
  • หากคุณแม่รู้สึกกังวลว่า ไม่ได้รับประทานอาหารครบหมู่ ขอแนะนำให้สอบถามสูติแพทย์และพยาบาลผดุงครรภ์เกี่ยวกับ อาหารเสริม
  • ทานอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และอาหารว่าง 2 - 3 ครั้งต่อวัน
  • พยายามทานผลไม้และผัก ซีเรียลธัญพืช และถั่วชนิดต่างๆ เพื่อเพิ่มปริมาณไฟเบอร์ในร่างกาย
  • ดื่มน้ำบ่อยๆ อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน
  • ดื่มเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ เช่น นมพร่องไขมัน น้ำผลไม้สด และซุป
  • ในแต่ละสัปดาห์ ควรรับประทานปลาที่มีไขมันหนึ่งส่วน และปลาไร้ไขมันหนึ่งส่วน (แต่ให้หลีกเลี่ยงปลาฉลาม ปลาดาบเงิน และปลากระโทงแทง)
  • ใช้น้ำมันพืชในการทำอาหาร เช่น น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะกอก และน้ำมันดอกทานตะวัน โดยใช้ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป
  • จำกัดการรับประทานอาหารที่ผ่านกรรมวิธี หรืออาหารหมักดอง ซึ่งมักจะมีเกลืออยู่ในปริมาณมาก
  • ลดปริมาณคาเฟอีนที่คุณรับประทานลงให้น้อยกว่า 4 แก้วต่อวัน
  • จำกัดการทานของหวาน ของขบเคี้ยว เค้ก คุกกี้ ไขมัน น้ำมัน และน้ำตาล อาหารเหล่านี้ให้แคลอรี่ แต่ไม่ค่อยมีคุณค่าทางอาหารที่คุณแม่และลูกน้อยต้องการ การทานตามใจปากในช่วงนี้ จะทำให้คุณแม่กลับมามีรูปร่างเหมือนเดิมได้ยาก ดังนั้น พยายามหักห้ามใจ ไม่ทานของหวานพวกนั้นบ่อยเกินไป

วิตามินและอาหารเสริมในช่วงตั้งครรภ์

การรับประทานอาหารที่ครบห้าหมู่จะช่วยให้คุณแม่ได้รับวิตามินและสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ที่แข็งแรง แต่อย่างไรก็ตาม มีวิตามินบางชนิดที่ควรทานเสริมและบางชนิดที่ควรหลีกเลี่ยงในระหว่างที่ตั้งครรภ์ เนื้อหาส่วนนี้จะช่วยแนะนำให้คุณแม่ได้ทราบว่าวิตามินและอาหารเสริมชนิดใดบ้างที่คุณแม่ต้องการ

สารอาหารหลักระหว่างการตั้งครรภ์

สารอาหารบางชนิดมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ คลิกชื่อสารอาหารที่คุณสนใจเพื่ออ่านข้อมูลเพิ่มเติม 



 
วิตามินและสารอาหารที่คุณแม่ต้องการระหว่างการตั้งครรภ์

กรดโฟลิค  
กรดโฟลิคช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ความผิดปกติของกระดูกสันหลัง ที่เรียกว่า Spina Bifida ช่วงเวลาที่เหมาะจะรับประทานคือช่วง 2-3 เดือนก่อนคลอด และระหว่างระยะที่ 1 ของการตั้งครรภ์ (12 สัปดาห์แรก) ในช่วงเวลาดังกล่าว จำเป็นมากที่คุณแม่จะต้องรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์และครบห้าหมู่ พร้อมทั้งรับประทานกรดโฟลิค พร้อมทั้งคุณแม่สามารถเลือกอาหารที่มีกรดโฟลิคสูงมารับประทาน เช่น ผักที่มีสีเขียวอย่างบล็อคโคลี่ กระหล่ำปลี ฝักถั่วและเมล็ดถั่ว และผลไม้ เช่น ส้ม


ธาตุเหล็กและวิตามินซี  
ธาตุเหล็กเป็นหนึ่งในสารอาหารหลักที่คุณแม่ต้องการตลอดเวลาในช่วงการตั้งครรภ์ เพราะเป็นสารสำคัญในการช่วยให้ออกซิเจนไหลเวียนไปกับเม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกน้อยในครรภ์ใช้ในการพัฒนาสมอง
 
หากขาดธาตุเหล็ก ลูกในครรภ์อาจจะไม่เป็นอะไร แต่ตัวคุณแม่เองจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคโลหิตจางซึ่งจะทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย และไม่สบายตัว สูติแพทย์ของคุณแม่อาจแนะนำให้ทานธาตุเหล็กเป็นอาหารเสริม หรือไม่คุณแม่ก็ต้องแน่ใจว่าได้รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงอย่างเพียงพอ เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ผลไม้แห้ง ซีเรียลธัญพืชและขนมปังธัญพืช และผักใบเขียว
ธาตุเหล็กจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดี หากคุณแม่รับประทานผักหรือผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงไปพร้อมกัน ดังนั้น ให้ดื่มน้ำผลไม้ไปพร้อมกับการทานซีเรียล หรือทานผลไม้สดขณะที่กำลังเริ่มทานอาหารมื้อหลักเพื่อช่วยในการดูดซึมให้ดีขึ้น


ไขมันโอเมก้า

การได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 ระหว่างการตั้งครรภ์นั้นเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากเป็นสารที่ช่วยให้ระบบประสาทของลูกน้อยพัฒนาได้ดี ทั้งยังช่วยป้องกันโรคหัวใจให้กับคุณแม่ได้ นอกจากนั้น จากการศึกษาพบว่าการได้รับไขมันโอเมก้าระหว่างการตั้งครรภ์จะทำให้ลูกน้อยฉลาดขึ้นอีกด้วย

ปลาที่มีไขมัน อย่างเช่น ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล และปลาแซลมอน ต่างก็มีกรดไขมันโอเมก้า 3 อยู่สูง แต่คุณแม่ก็ไม่ควรรับประทานมากกว่า 2 ส่วนต่อสัปดาห์ เพราะปลาเหล่านั้นมีสารปรอทอยู่ด้วย หากได้รับในปริมาณสูง อาจจะทำให้เกิดอันตรายกับลูกในท้องได้ ซึ่งคุณแม่อาจเลือกที่จะรับกรดไขมันโอเมก้า 3 จากแหล่งอื่น ได้ในเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดนุ่น หรือถั่วเหลือง ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน หรือคุณแม่จะเลือกทานอาหารเสริมแทนก็ได้

 

 วิตามินเสริมก่อนคลอด

คุณแม่สามารถเลือกทานวิตามินรวมที่ผลิตสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์หรือผู้หญิงใกล้คลอดโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่ได้รับสารอาหารที่ครบทั้งห้าหมู่เหมาะสำหรับการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์แข็งแรง โดยได้รวมเอากรดโฟลิค และธาตุเหล็กไว้แล้วด้วย
แต่ต้องดูให้แน่ใจด้วยว่า คุณแม่ได้เลือกเอาวิตามินรวมที่ทำขึ้นสำหรับคนใกล้คลอดหรือคนท้องเท่านั้น ไม่ใช่วิตามินรวมธรรมดาทั่วไป ซึ่งจะมีวิตามินที่ควรหลีกเลี่ยงอยู่ในปริมาณสูง  
 
 วิตามินเอ


อาหาร อย่างเช่น ตับบดและไส้กรอกตับ เป็นแหล่งของธาตุเหล็กที่ดี แต่ก็มีวิตามินเออยู่ในปริมาณสูง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์หากรับประทานมากเกินไป คุณแม่ควรทราบไว้อีกด้วยว่า วิตามินเสริมบางตัวก็มีวิตามินเอในปริมาณสูง ดังนั้น ต้องเลือกทานอาหารเสริมที่ปลอดภัยสำหรับการตั้งครรภ์เท่านั้น  สูติแพทย์สามารถช่วยแนะนำได้ในส่วนนี้

อย่างไรก็ตาม มีอีกรูปแบบหนึ่งของวิตามินเอซึ่งดีต่อหญิงตั้งครรภ์ นั่นก็คือแคโรทีน ซึ่งมีมากในพริกหยวกสีแดง เหลืองและส้ม ผลไม้เช่น มะม่วง แครอท มันฝรั่งหวาน แอพพริคอท มะเขือเทศ และผักวอเทอร์เครส
 

อาหารชนิดใดที่ควรหลีกเลี่ยงในระหว่างตั้งครรภ์

คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารบางอย่างขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากส่วนผสมหรือวิธีการปรุงของอาหารนั้นๆ ไม่เหมาะสำหรับหญิงตั้งครรภ์ การที่จะเลือกว่าอะไรควรทานและอะไรควรหลีกเลี่ยงอาจจะทำให้คุณแม่รู้สึกสับสันสักเล็กน้อยแต่คำแนะนำและข้อมูลด้านล่างนี้จะช่วยให้คุณแม่เลือกอาหารว่างในมื้อต่อไปได้ง่ายและเหมาะสมมากขึ้น หากคุณแม่ไม่แน่ใจว่าอาหารประเภทไหนบ้างที่ควรหลีกเลี่ยง
อาหารและเครื่องดื่มที่ควรหลีกเลี่ยง

การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของอาหาร ที่ควรหลีกเลี่ยงและอาหารที่ควรรับประทาน อาหารบางชนิดอาจทำอันตรายต่อลูกน้อยและทำให้คุณแม่ป่วย  ดังนั้น  ความปลอดภัยของอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงอาหารดังต่อไปนี้โดยเด็ดขาด

  • ไข่ดิบหรือไข่ที่ปรุงไม่สุกหรืออาหารที่ทำจากไข่เหล่านั้น โดยไข่ที่ทานได้ ควรผ่านการปรุงให้สุก ไม่ควรอยู่ในสภาพที่เป็นของเหลว
  • เนื้อหรือปลาที่ปรุงไม่สุก หรือเกือบดิบ โดยเนื้อที่ทานได้ต้องไม่มีสีชมพูเหลืออยู่
  • ปลาหรือเนื้อที่เสิร์ฟดิบๆ เช่น ซูชิ สเต็กบางชนิด ปลาแซลมอนรมควัน หอยนางรม
  • นมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อและ เนยแข็ง
  • ตับบดหรืออาหารประเภทตับ โดยอาหารพวกนี้จะมีวิตามินเออยู่สูงมาก ซึ่งอาจทำอันตรายต่อลูกน้อย ของคุณ
  • อาหารที่ผ่านการปรุงบางชนิด เช่น สลัดมันฝรั่ง หรือโคสลอว์ บางครั้งอาจมีเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า Listeria อยู่เป็นจำนวนมาก
  • ก่อนจะรับประทาน ตรวจดูให้แน่ใจว่าอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารที่อุ่นซ้ำนั้นผ่านความร้อนทั่วถึงดีแล้วหรือยัง
  • ระมัดระวังการทานบาร์บีคิว เพราะเนื้อมักจะถูกวางทิ้งไว้ ก่อนจะนำมารับประทาน
  • ปลาดาบเงิน ปลากระโทงแทง และปลาฉลาม ปลาเหล่านี้มีสารปรอทตามธรรมชาติอยู่ในระดับที่อาจไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจทำอันตรายต่อระบบประสาทที่กำลังพัฒนาของลูกน้อยในครรภ์ ปลาทูน่าก็มีสารปรอทเช่นกัน คุณแม่จึงควรจำกัดปริมาณการรับประทานอยู่ที่กระป๋องขนาดกลาง (น้ำหนักไม่รวมน้ำ 140 กรัมต่อกระป๋อง) หรือเนื้อปลา 2 ก้อน (สูงสุด 170 กรัม ต่อก้อน) ต่อสัปดาห์
  • ควรหลีกเลี่ยงการทานถั่วลิสงระหว่างตั้งครรภ์และการให้นม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีประวัติการเป็นภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น โรคหอบหืด โรคเรื้อนกวางหรือโรคแพ้ละอองเกสร
  • แอลกอฮอล์ การได้รับปริมาณแอลกอฮอล์มากเกินไป เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหามากมายกับลูกน้อยในครรภ์ โดยเฉพาะลูกอ่อนที่อายุน้อยกว่า 8 สัปดาห์ และแม้จะบริโภคแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อย ก็ยังอาจมีผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของลูกในครรภ์ได้

ระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ควรรับประทานอาหารมากเป็นสองเท่าหรือไม่

หลายคนเชื่อว่าผู้หญิงควรทานอาหารเพิ่มเป็นสองเท่าเผื่อลูกในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ โดยทั่วไป คุณแม่แต่ละคนจะมีความต้องการที่แตกต่างกันไปในช่วงตั้งครรภ์ เพราะฉะนั้น จึงไม่จำเป็นต้องทานอาหารมากกว่าปกติจนเกินไปนัก จนกว่าจะถึงระยะที่สามของการตั้งครรภ์ 

คุณแม่จะมีความต้องการแคลอรี่เพิ่มขึ้นมากน้อยเท่าไร

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าคุณแม่จะ อ้วนขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะคุณแม่มีทารกน้อยที่กำลังเติบโตอยู่ในท้อง แต่ถ้าคุณแม่มีน้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ที่ปกติและมีการเผาผลาญที่ดี น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นตอนตั้งครรภ์ควรอยู่ที่ 10 - 13 กก. เท่านั้น
สำหรับความต้องการแคลอรี่ที่เพิ่มขึ้น จะมีเฉพาะในระยะที่สามของการตั้งครรภ์เท่านั้น โดยจะอยู่ที่  200 – 300     แคลอรี่ต่อวัน ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับผู้หญิงที่มีน้ำหนักปกติก่อนการตั้งครรภ์ แต่การเพิ่มน้ำหนัก ไม่ใช่การทานแบบสองเท่าในมื้อเย็น จริงๆแล้ว แค่เพียงขนมปังโฮลวีต 2 แผ่น ก็ช่วยเพิ่มแคลอรี่ในส่วนที่ต้องการให้คุณแม่ได้แล้ว



คุณแม่ควรรับประทานประเภทใดในช่วงตั้งครรภ์

การรับประทานมากน้อยเท่าไรนั้น ไม่สำคัญเท่ารับประทานได้ดีหรือไม่  เนื่องจาก ลูกน้อยในครรภ์จะได้รับสารอาหารหล่อเลี้ยงโดยตรงจากคุณแม่ ดังนั้น คุณแม่ควรพยายามรับประทาน อาหารให้ครบห้าหมู่ และหลีกเลี่ยงของทานเล่นที่มีรสหวาน เพราะการที่ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นๆลงๆ จะทำให้ระบบเผาผลาญของคุณสับสน ซึ่งอาจทำให้คุณแม่รู้สึกวิงเวียนศีรษะได้ในบางครั้ง

สิ่งสำคัญคืออย่าใจร้ายกับตัวเองมากเกินไป เช่น บางวันคุณอาจรู้สึกหิวจัด บางวันกลับอยากทานเพียงเล็กน้อย ถ้าคุณแม่มีอาการ แพ้ท้องตอนเช้าๆ  การกินน้อยๆ แต่กินบ่อยๆ ก็จะช่วยให้ดีขึ้นได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือพยายามทำตามสัญชาตญาณของคุณแม่เอง  แล้วคุณจะประหลาดใจว่าร่างกายของคุณปรับตัวได้อย่างอัศจรรย์


การอยากอาหารระหว่างตั้งครรภ์ของคุณแม่ เป็นเรื่องปกติหรือไม่
คุณแม่หลายๆ ท่าน อาจมีความรู้สึกอยากอาหารระหว่างการตั้งครรภ์ ตั้งแต่การอยากทานไอศครีมทั้งกล่อง ไปจนถึงการอยากทานถ่าน เชื่อกันว่าเป็นเพราะร่างกายของคุณแม่พยายามจะบอกว่ามีสารอาหารใดที่ต้องทานเพิ่มเติมเข้าไปบ้างค่ะ ดังนั้น คุณแม่ลองฟังสัญชาตญาณของตัวเองดูสักนิดว่าจริงๆแล้วต้องการทานอะไร

การอยากอาหารระหว่างตั้งครรถ์โดยทั่วไป

เป็นเพราะฮอร์โมนประหลาดในช่วงตั้งครรภ์ใช่หรือไม่? ทำให้คุณแม่นึกถึงมะม่วงดิบวันละพันครั้ง หรือเป็นเพราะร่างกายของคุณแม่เองพยายามที่จะบอกอะไรบางอย่าง การอยากอาหารเป็นความต้องการที่รุนแรงเพื่อให้ได้ทานสิ่งที่ต้องการ แม้ว่าอาจเป็นสิ่งที่ไม่เคยอยากทานมาก่อนเลยก็ได้ ว่าที่คุณแม่ส่วนใหญ่มักจะรู้สึกอยากอาหารเหล่านี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากคุณแม่จะรู้สึกอยากทานของเหล่านี้ในระหว่างตั้งครรภ์
  • ของหวาน
  • อาหารที่ทำจากนม
  • ขนมขบเคี้ยวรสเค็ม
  • ผลไม้รสเปรี้ยว (เช่น พืชตระกูลมะนาว หรือส้ม)
  • อาหารเผ็ด รสจัด

บางครั้งการอยากอาหาร ก็เป็นการบอกใบ้ถึงสิ่งที่ควรรับประทานเพิ่มเข้าไปในร่างกาย อย่างเช่น หากคุณแม่อยากทานมะกอกดองเค็ม คุณแม่ก็อาจจะต้องการเพิ่มการทานโซเดียมอีกเล็กน้อย เพราะร่างกายต้องการโซเดียมมากว่าปกติในระหว่างตั้งครรภ์

การอยากรับประทานสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร

คุณแม่บางท่านอาจรู้สึกอยากทานสิ่งที่ไม่ใช่อาหารในบางครั้ง เช่น ทราย ถ่าน น้ำแข็ง หรือดิน อาการเช่นนี้ เรียกกันว่า  “ Pica” และยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด บางคนบอกว่าเป็นเพราะร่างกายขาดธาตุเหล็กหรือแคลเซียม แต่บางคนก็บอกว่า เป็นเพราะร่างกายพยายามรักษาตัวเองจากอาการ คลื่นไส้  สิ่งสำคัญคือ คุณแม่ควรที่จะต้านความรู้สึกอยากทานสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร เพราะการทานสิ่งเหล่านั้นเข้าไปอาจเป็นอันตรายได้ และจริงๆ แล้วก็คงไม่มีใครที่อยากจะทานข้าวคลุกกับทรายแน่นอน
 

คุณแม่จะอยากรับประทานแต่ของดองไปตลอดเลยหรือไม่


ส่วนใหญ่แล้ว อาการอยากอาหารแปลกๆในช่วงตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ แล้วค่อยๆ หายไป หรือไม่ค่อยอยากมากนัก แต่ถ้าไม่หาย  คุณแม่ก็ไม่ต้องรู้สึกกังวลมากเกินไป เพียง รับประทาน อาหารครบทั้งห้าหมู่  และเลือกอาหารให้มีสารอาหารที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ ก็สามารถช่วยให้คุณแม่รับสารอาหารอย่างครบถ้วนและเพียงพอได้ แต่ต้องไม่ใช่การเอาของดองมาทานแทนมื้ออาหารเช้า กลางวัน และเย็น



ที่มา  :  สถาบันวิจัยโภชนาการนานาชาติ ดูเม็กซ์  









.

1 ความคิดเห็น: