วันจันทร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2554

น้ำส้มคั้นวันละแก้ว...ห่างไกลจากโรคนิ่ว

  น้ำส้มคั้นวันละแก้ว...ห่างไกลจากโรคนิ่ว


น้ำส้มคั้น เป็นเครื่องดื่มยอดฮิตของสาวๆ หลายคน เพราะนอกจากจะมีวิตามินซีซึ่งดีต่อผิวพรรณแล้ว ยังมีผลดีต่อสุขภาพอีกด้วย ล่าสุดมีงานวิจัยที่เผยว่าการดื่มน้ำส้มคั้นวันละแก้ว ยังอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคนิ่วในไต โดยมีประสิทธิภาพดีกว่าน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวอื่นๆ (Citrus juices) อย่างเช่น น้ำมะนาว (lemonade) โดยกลุ่มนักวิจัยกล่าวว่าคนส่วนใหญ่มักคิดว่า การดื่มน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวไม่ว่าจะมาจากผลไม้ชนิดใดก็ตาม ก็สามารถป้องกันการเกิดนิ่วในไตได้เหมือนกันหมด เนื่องจากเครื่องดื่มเหล่านี้มีสารซิเตรต (citrate) จากธรรมชาติที่ช่วยเพิ่มปริมาณซิเตรตในปัสสาวะ และลดความเป็นกรดของปัสสาวะจึงลดการเกิดนิ่วในไตได้ แต่จากงานวิจับกลับพบว่า แม้ว่าน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวทั้งหลายจะมีปริมาณซิเตรตที่ใกล้เคียงกัน แต่มีน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเพียงบางชนิดเท่านั้น ที่อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในไตได้ โดยโรคนิ่วในไตนั้น มักเกิดจากจากที่ปัสสาวะมีความเข้มข้นมาก จนตกตะกอนเป็นนิ่ว มักเกิดที่ไตบริเวณกรวยไต และเมื่อก้อนนิ่วหลุดลงมาท่อไต ก็จะเกิดอาการปวดท้องทันที และพบว่าเมื่อเป็นนิ่วแล้วโอกาสที่จะเกิดเป็นซ้ำประมาณครึ่งหนึ่งในเวลา 10 ปี ทำให้หลายคนที่เคยเป็นโรคนี้ ต้องหันมากินยาที่ลดกรดยูริกในปัสสาวะพวกโพแทสเซียมซิเตรต (potassium citrate) เพื่อช่วยป้องกันการเกิดใหม่ของก้อนนิ่ว แต่ก็อาจได้รับผลข้างเคียงจากยาที่ทำให้เกิดการระคายเคืองของระบบทางเดินอาหารได้ บางคนจึงหันไปดื่มน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวที่มีสารซิเตรตจากธรรมชาติแทน เพื่อป้องกันไม่ให้ก้อนนิ่วเกิดซ้ำอีก ดังนั้นการดูแลเรื่องอาหารการกิน และพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาจช่วยยับยั้งการสะสมของผลึกก้อนนิ่วที่จะเกิดขึ้นใหม่ได้

จากผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Clinical Journal of the American Society of Nephrology ที่ได้ศึกษาผลของการดื่มน้ำส้มคั้น และน้ำมะนาวในการป้องกันการเกิดนิ่วในไต ในอาสาสมัคร 13 คน ซึ่งมีทั้งผู้ที่เคยเป็นโรคนิ่วในไตมาก่อน และไม่เคยเป็นโรคนิ่วเลย โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรกให้ดื่มน้ำเปล่า ระยะต่อมาให้ดื่มน้ำส้มคั้น และระยะสุดท้ายให้ดื่มน้ำมะนาว โดยเครื่องดื่มทั้งหมดนี้จะให้ดื่มครั้งละ 13 ออนซ์ พร้อมอาหาร 3 มื้อต่อวัน ติดต่อกัน 1 อาทิตย์ และตลอดเวลาที่ทดลองนี้ ยังมีการควบคุมปริมาณอาหารที่มีผลต่อการเกิดนิ่ว พบว่าการดื่มน้ำส้มคั้นจะเพิ่มปริมาณของสารซิเตรตในปัสสาวะทำให้ปัสสาวะมีความเป็นกรดลดลง และยังลดการตกผลึกของกรดยูริก (uric acid) และแคลเซียมออกซาเลท (calcium oxalate) ที่เป็นส่วนประกอบหลักของก้อนนิ่วจึงลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนิ่วในไต ขณะที่การดื่มน้ำมะนาวไม่มีผลต่อระดับสารซิเตรตในปัสสาวะ จึงอาจไม่มีผลช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนิ่วในไต

กลุ่มนักวิจัยเชื่อว่าการที่น้ำส้มคั้นมีประสิทธิภาพดีกว่าน้ำมะนาวในการยับยั้งการเกิดโรคนิ่วในไต ทั้งๆ ที่เครื่องดื่มทั้ง 2 นั้น มีปริมาณของสารซิเตรตใกล้เคียงกัน อาจเป็นผลมาจากส่วนประกอบอื่นที่แตกต่างกันในน้ำผลไม้ทั้ง 2 ชนิด โดยการดื่มน้ำมะนาวนั้น จะได้รับทั้งสารซิเตรตและไฮโดรเจน (hydrogen ion) ที่สามารถขัดขวางการทำงานของสารซิเตรตในการที่จะลดภาวะความเป็นกรดของปัสสาวะ ขณะที่การดื่มน้ำส้มคั้นจะได้ทั้งสารซิเตรต และโพแทสเซียม (potassium ion) ที่ไม่มีผลต่อการทำงานของสารซิเตรต ทำให้น้ำส้มคั้นอาจกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันการเกิดโรคนิ่วในไต


แหล่งข้อมูล : นิตยสาร HealthToday







.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น