วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

ต้านนิ่วในถุงน้ำดีด้วยอาหารกากใย

      ต้านนิ่วในถุงน้ำดีด้วยอาหารกากใย


นิ่วในถุงน้ำดีเกิดขึ้นได้อย่างไร

นิ่วในถุงน้ำดี (gallstones) เกิดจากการตกผลึกของหินปูน (แคลเซียม) หรือคอเลสเทอรอลที่มีอยู่ในน้ำดี ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการตกผลึกของสารเหล่านี้ เชื่อว่าเกี่ยวกับการติดเชื้อของทางเดินน้ำดี และความไม่สมดุลของส่วนประกอบในน้ำดี การตกผลึกของสารเหล่านี้ อาจทำให้เกิดเป็นก้อนนิ่วเพียงก้อนเดียว หรือก้อนเล็ก ๆ หลายๆ ก้อนก็ได้ รวมทั้งคนที่มีระดับคอเลสเทอรอลในเลือดสูง หญิงที่มีบุตรแล้ว ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ทาลัสซีเมีย โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก จะมีโอกาสเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าคนทั่วไป

อาการ

เราอาจแบ่งอาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดีออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ไม่มีอาการกับประเภทที่มีอาการ

• ประเภทที่ไม่มีอาการ - นิ่วในถุงน้ำดี ส่วนใหญ่ (มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์) ไม่มีอาการ และในกลุ่มนี้ จะมีโอกาสเกิดอาการขึ้นได้ ประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย จะไม่มีอาการผิดปกติแสดงให้เห็นแต่อย่างใด และมักจะตรวจพบโดยบังเอิญ จากการตรวจเช็คร่างกายด้วยโรคอื่น
• ประเภทมีอาการ - สามารถลำดับอาการตั้งแต่น้อยไปหามาได้ดังนี้
1. ท้องอืด แน่นท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังรับประทานอาหารมัน ซึ่งอาการแบบนี้ อาจเกิดจากโรคระบบทางเดินอาหารอื่น เช่น โรคกระเพาะอาหารหรือโรคของลำไส้ใหญ่ ก็ได้
2. ปวดเสียดท้อง อาการปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา หรือลิ้นปี่ ซึ่งมักเป็นหลังรับประทานอาหารมัน แต่อาการอาจเป็นอยู่นานหลายชั่วโมง (แต่มักไม่เกิน 8 ชั่วโมง) แล้วค่อยกลับเป็นปกติ อาจร้าวไปสะบักขวา หรือที่หลัง
3. ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน จะมีอาการปวดท้องบริเวณชายโครงขวามากขึ้น และมีการตรวจพบการกดเจ็บบริเวณนี้ ร่วมกับมีไข้ และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนด้วย
4. มีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง


วิธีการรักษา

ในปัจจุบันไม่มียาที่รับประทานแล้วนิ่วหายไปได้ทันที คนที่รับประทานยารักษาโรคนิ่ว ต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิต ที่สำคัญยาที่ใช้รักษามีราคาแพง วิธีนี้จึงไม่เป็นที่นิยมมากนัก นิ่วในถุงน้ำดีที่ไม่มีอาการ ส่วนใหญ่ไม่ต้องผ่าตัด เพราะอาจไม่มีอาการเลยตลอดชีวิต ยกเว้นในคนไข้บางกลุ่ม ที่แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัด เช่น อายุน้อย (เพราะมีโอกาสเกิดอาการขึ้นมาได้ในอนาคต) โรคโลหิตจางบางชนิด เป็นต้น

ส่วนนิ่วในถุงน้ำดีที่มีอาการ หรือมีภาวะแทรกซ้อนแล้วควรได้รับการผ่าตัด การรักษานิ่วในถุงน้ำดีในกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าว คือการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก ซึ่งวิธีมาตรฐานดั้งเดิมใช้วิธีการ ผ่าตัดเปิดหน้าท้อง บริเวณใต้ชายโครงขวา แต่ปัจจุบันมีการผ่าตัดอีกวิธีคือ การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกโดยใช้กล้องส่องผ่านหน้าท้อง

การป้องกัน

โรคนี้อาจป้องกันได้ ด้วยการควบคุมระดับคอเลสเทอรอลในเลือด และรักษาโรคเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมทั้งดูแลในเรื่องอาหารการกิน

อาหาร ยาดีป้องกันโรค

ส่วนอาหารที่ช่วยป้องกันการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี ได้แก่ อาหารจำพวกแป้งที่ไม่ขัดสี , ผักและผลไม้สด , รำข้าวโอ๊ต และถั่ว

อาหารที่ควรงดเว้น ได้แก่ อาหารทอด และอาหารมันๆ



นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 133


แหล่งข้อมูล : www.cheewajit.com







.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น